ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดครึ่งปีหลังธุรกิจกองทุนรวมแข่งขันด้านการออมมากขึ้น นำโดย พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน แนะบลจ.เตรียมหาผลิตภัณฑ์รองรับเศรษฐกิจฟื้น
. |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แนวโน้มคงจะเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันและช่องทางการออมต่างๆที่มีมากขึ้น นำโดย พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว |
. |
นอกจากนี้บลจ.คงจะต้องเตรียมหาผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับลูกค้าเพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป เพื่อเป็นทางเลือกและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่สำคัญได้แก่ การเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในช่วงกลางเดือน ก.ค.2552 รวมถึงหุ้นกู้ต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งได้จุดชนวนให้สถาบันการเงินทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ออม |
. |
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจไทยที่อาจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายประการ รวมทั้งยังคงต้องติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของตลาดหุ้น ตลอดจนการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนบางประเภท |
. |
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้กองทุนรวมต่างๆ อาจหันมานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่อาศัยโอกาสการลงทุนยามที่เศรษฐกิจเร่งฟื้นตัว ได้แก่ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่ราคาสินทรัพย์หลายประเภทในตลาดโลกเริ่มพุ่งทะยาน |
. |
เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ตลอดจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการบลจ.ในการกลับเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศอีกครั้ง ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ทั้งนี้ บลจ.หลายแห่งเริ่มเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2552 เนื่องจากสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทอายุเดียวกัน |
. |
นอกจากนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป อาจช่วยหนุนบริษัทเอกชนในการออกหุ้นกู้ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบลจ.ในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อกองทุนทั้งสองประเภทในช่วงที่ราคาหุ้นปรับฐานลงไป |
. |
ขณะเดียวกันก็อาจอาศัยจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในช่วงปลายปีจากโอกาสการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ |
. |
ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผล นั้น บลจ. อาจนำเสนอกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผลให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในจังหวะที่พื้นฐานเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยกองทุนดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย |
. |
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธุรกิจกองทุนรวมมีการขยายตัวของ NAV 13.76% จากสิ้นปี 2551 โดยได้รับแรงหนุนจากการแสวงหาช่องทางการลงทุนของผู้ออม ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในรูปแบบที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นจากระดับ ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งช่วยหนุน NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น |
. |
ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม (ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2552) มูลค่าเท่ากับ 1,736,832.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,526,811.5 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2551 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดตลอดครึ่งแรกของปี 2552 พบว่ามีทั้งสิ้น 1,054 กอง และเมื่อพิจารณาแยกประเภทตามนโยบายการลงทุน พบว่ากองทุนรวมเกือบทุกประเภท NAV ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ และกองทุนรวมประเภทตราสารทุน |