เนื้อหาวันที่ : 2009-07-23 13:30:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1185 views

หนี้สาธารณะเดือน พ.ค. 52 พุ่งกว่า 40% ต่อจีดีพี

งามหน้ารัฐบาลอภิประชานิยมเอาแต่กู้ทำหนี้สาธารณะพุ่งเดือน พ.ค. 52 มียอดหนี้คงค้างกว่า 3.8 ล้านล้านบาทคิดเป็น 43.41% ต่อจีดีพี

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

.

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค.52 มีจำนวน 3,834,086 ล้านบาท หรือคิดเป็น 43.41% ของ GDP แยกเป็น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,478,361 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,038,811 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 207,966 ล้านบาท, หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 105,193 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 3,755 ล้านบาท   

.

เมื่อเทียบกับเดือนก่อน พบว่า ยอดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 35,070 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐเพิ่มขึ้น 32,576 ล้านบาท 2,554 ล้านบาท 2,905 ล้านบาท และ 72 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 3,037 ล้านบาท 

.

"การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน" นายพงษ์ภาณุ ระบุ 

.

โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 32,576 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการออกตั๋วเงินคลังจำนวน 60,081 ล้านบาท โดยเป็นการใช้วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 4,312 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลได้ทำการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 47,000 ล้านบาท       

.

นอกจากนี้ในเดือน พ.ค.52 ยังมีพันธบัตรรัฐบาลครบกำหนดจำนวน 41,700 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินจำนวน 11,700 ล้านบาท จึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลโดยการกู้เงินระยะสั้นจำนวน 30,000 ล้านบาท แล้วจะดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.52 เพื่อนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรไปทยอยชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้น 

.

หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,554 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น 

.

หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,905 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน รายการที่สำคัญเกิดจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ออกพันธบัตรจำนวน 2,000 ล้านบาท 

.

ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 3,037 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการซื้อคืนพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน 

.

สำหรับยอดหนี้สาธารณะจำนวน 3,834,086 ล้านบาท แยกเป็น หนี้ต่างประเทศ 381,224 ล้านบาท หรือ 9.94% และหนี้ในประเทศ 3,452,862 ล้านบาท หรือ 90.06% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,373,804 ล้านบาท หรือ 88.00% และหนี้ระยะสั้น 460,282 ล้านบาท หรือ 12.00% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง