ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 2/52 เริ่มดีขึ้น เหตุภาคอุตสาหกรรม การบริโภค และส่งออกเริ่มฟื้น คลังใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นศก. ต่อเนื่อง เชื่อปี 53 ขยายตัวเป็นบวกตามเศรษฐกิจโลก
นายบัณฑฺต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย |
. |
นายบัณฑฺต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"ทิศทางและนโยบายของ ธปท."ว่า ธปท.ให้ความสำคัญ 5 ด้านในการกำหนดมาตรการดูแลเศรษฐกิจ |
. |
ประกอบด้วย การรักษาความเชื่อมั่นของระบบการเงิน, การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อเป็นเครื่องมือพร้อมรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ, การสร้างความสามารถ และลดข้อจำกัดต่อการปรับตัวของภาคเอกชน, การปรับตัวและเตรียมพร้อมใช้นโยบายการเงินเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว และ การปูพื้นฐานระบบธนาคารพาณิชย์ให้มีความต่อเนื่องเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว |
. |
นายบัณฑิต กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 2/52 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต การบริโภค และการส่งออก มีการหดตัวที่ลดลง ขณะที่ภาคการคลังยังคงมีการใช้จ่ายต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศที่ภาคการเงินต่างประเทศยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ จึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง |
. |
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 53 น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นตาม ธปท.จึงได้ทบทวนเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยในวันศุกร์ 24 ก.ค.นี้ โดยจะพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อ และตัวเลขเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ให้สะท้อนข้อเท็จจจริงที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากไตรมาส 1/52 เศรษฐกิจหดตัว 7.1% |
. |
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวอยู่ และยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ดังนั้น การที่จะใช้ปัจจัยต่างประเทศ เพื่อช่วยฟื้นการส่งออก จึงกลายเป็นข้อจำกัด ดังนั้น การใช้จ่ายในประเทศ จึงจะมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดย 3 ปัจจัยหลัก ต้องดำเนินการในทิศทางเดียวกัน คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ที่ต้องใช้จ่ายให้เป็น และใช้จ่ายให้ดี ภาคเอกชนต้องมีความเชื่อมั่น สภาพคล่อง การปล่อยสินเชื่อ และดอกเบี้ยในอยู่ระดับที่มีความเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายในประเทศขยายตัว |
. |
"ข้อสังเกตในมุมมองของแบงก์ชาติ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาจากวิกกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังปรับตัวไม่ชัดเจน สิ่งที่ทำได้คือพยายามดูแลให้เศรษฐกิจในประเทศ พร้อมปรับตัวรับผลกระทบที่เกิดขึ้น เตรียมพร้อมเดินหน้าต่อเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการปรับตัวของภาคเอกชน แต่ต้องอยู่ภายใต้การรักษาวินัย เพื่อไม่สร้างปัญหาในอนาคต นอกจากนี้กระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องดูแลไม่ให้กระทบต่อพื้นฐานเศรษฐกิจ"นายบัณฑิต กล่าว |
. |
การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ ธปท.ตั้งแต่ไตรมาส 4/51 จนถึงปัจจุบันได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2.5% มาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หากพิจารณาจากสภาพคล่องในระบบที่มีอยุ่สูง แต่สิ่งสำคัญคือการดูแลให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์อย่างเต็มที่มอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ และการดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย |
. |
นายบัณฑิต ยอมรับว่าที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากน้อยกว่าที่ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงไป โดยดอกเบี้ยนโยบายปรับลดไปแล้วช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 2.5% แต่ธนาคารพาณิชย์ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1.4% และลดดอกเบี้ยเงินฝากเพียง 1.9% |
. |
สำหรับสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีสูงถึง 5 เท่าของการตั้งสำรองตามกฎหมาย ถือว่าสูงมาก ขณะที่การกู้เงินของภาครัฐโดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ยังไม่ได้มีผลกระทบสภาพคล่องในระบบ เพราะจะเป็นการทยอยดำเนินการ และเงินที่ระดมได้จากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ก็จะหมุนกลับเข้าสู่ระบบอีก นอกจากนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ดังนั้น สภาพคล่องในระบบจึงไม่ได้เป็นปัญหา |
. |
ธปท.คาดว่า สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งปี 52 ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้ แม้ว่าจะชะลอตัวไปมากในครึ่งปีแรก เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลงมีแนวโน้มที่สินเชื่อจะขยายตัวได้ดีจากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนั้น ยังคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์มีโอกาสจะปรับลดลง จากการกลับมาแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น |
. |
รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวยืนยันว่า กฎระเบียบกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของ ธปท. ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ แต่สิ่งที่กำหนดการปล่อยสินเชื่อมาจากอุปสงค์และการบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ ธปท.ได้สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ ทั้งการลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการรีไฟแนนซ์ การสร้างระบบบริหารความเสี่ยง (Credit Risk) การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยง |
. |
ส่วนผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2/52 ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1/52 แต่ก็ถือว่าลดลงไม่มาก และเป็นระดับที่น่าพอใจ เพราะเป็นไปตามที่คาดไว้จากผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ การชะลอตัวของสินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(สเปรด)ลดลง รวมทั้ง การตั้งสำรองที่สูงขึ้น แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น |
. |
ส่วนยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ เดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 5.5% สูงขึ้นจาก เม.ย. เล็กน้อย แต่ไม่ได้เป็นระดับที่น่าเป็นห่วง และสิ่งที่ ธปท.ต้องการเห็นคือให้ มีการผ่องถ่าย NPL และ สินทรัพย์รอการขาย (NPA) ออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดต้นทุน ให้มีการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น |
. |
นายบัณฑิต กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 24 ก.ค.นี้ ธปท.จะมีการหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองกับธนาคารพาณิชย์ และในสัปดาห์หน้า ธปท.จะออกกฎระเบียบเกี่ยวกับธรรมาภิบาลในการเป็นคณะกรรมการในธนาคารพาณิชย์ |