ปี 2522 ชาวบ้านอำเภอคอนสารต้องเดือดร้อนจากกรณีสวนป่าคอนสารยึดที่ดินทำกินอย่างไร้ความเป็นธรรม พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์มาเป็นเวลากว่า 30 ปีจนถึงวันนี้ยังไร้วี่แววได้ที่ดินทำกินคืน
อรนุช จันทรโคตร |
. |
.. |
"30 ปี ที่สวนป่ายึดที่ทำกินชาวบ้าน ถึงเวลารัฐบาลต้องคืนพื้นที่จัดสรรให้ชาวบ้านเข้าทำกินรูปแบบโฉนดชุมชน" |
.. |
"พวกเราเดือดร้อนจากสวนป่ายูคา เราจะอยู่ที่นี่รอการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ จะอยู่รอคำตอบจาก ฯพณฯท่านนายกเท่านั้น" |
.. |
ป้ายข้อความที่เขียนติดไว้ระหว่างต้นยูคาลิปตัส บริเวณแปลงปลูกป่าปี 2550 เนื้อที่ 96 ไร่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ ที่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกรณีสวนป่าคอนสาร และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กว่า 300 คน ได้ใช้เป็นที่สำหรับรอพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี |
. |
กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อน ได้เข้าพื้นที่เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 สาเหตุหลักคือปัญหาที่ชาวบ้านไร้ที่ทำกินตั้งแต่ปี 2522 เมื่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้เข้ามาปลูกยูคาลิปตัสทับที่ดินทำกิน โดยบอกว่าจะหาที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ จนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ยังไร้วี่แววที่ดินทำกินที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เคยรับปากไว้ว่าจะให้ชาวบ้าน แม่บัวลา อินอิ่ม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้เดือดร้อน กล่าวว่า |
. |
"ชาวบ้านตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ต้องเดือดร้อนหลาย ตอนแรกมีการชักชวนให้ชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ โดยอ้างว่า จะได้สิทธิ์ทำงานเป็นลูกจ้าง ออป.และจะได้ที่ดินทำกินคนละ 5 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ กรณีที่ชาวบ้านไม่ยินยอม จะถูกข่มขู่ และใช้มาตรการทางกฎหมาย นอกจากนี้มี การใส่ร้ายชาวบ้านมีการเอาระเบิดมาฝังไว้ในพื้นที่ และแจ้งข้อหาชาวบ้านว่ามีอาวุธสงครามในครอบครอง หลังจากนั้นก็ปลูกยูคาลิปตัสทับพื้นที่ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ตอนนี้หลายครอบครัวก็ต้องอพยพแรงงานไปกรุงเทพ แล้วก็รับจ้างทั่วไป พอได้กิน" |
. |
อย่างไรก็ตามชาวบ้าน ก็ได้มีการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา เมื่อปี 2547 และมีการติดตามปัญหากันอย่างต่อเนื่อง ด้านนายปราโมทย์ ผลภิญโญ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานเปิดเผยว่า "การปลูกสร้างสวนป่าดังกล่าวข้างต้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ ทั้งที่พื้นที่สัมปทานอยู่อีกบริเวณหนึ่งเรียกว่า "ป่าเหล่าไฮ่" ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ชาวบ้านถือครองทำกินอยู่ ดังนั้น มหกรรมการข่มขู่ ขับไล่ชาวบ้านจึงเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าจะมีการคัดค้านของชาวบ้านมาโดยตลอด |
. |
ปัจจุบัน ชาวบ้านได้ติดตามปัญหา โดยมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับอำเภอโดยมีปลัดอาวุโสเป็นประธาน และที่ประชุมคณะทำงานมีมติเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2548 ว่า ออป. ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินของราษฎรจริง และให้นำที่ดินดังกล่าวมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรผู้เดือดร้อนต่อไป" |
. |
นอกจากนี้ ชาวบ้านได้ร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วมีรายงานผลการละเมิดสิทธิในวันที่ 28 ธันวาคม 2550 ว่า "การกระทำของกรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งที่ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนสวนป่าคอนสาร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของผู้ร้อง |
. |
ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง" คณะอนุกรรมการฯจึงมีมาตรการแก้ไขปัญหาคือ "ให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร ตามมติคณะทำงานระดับพื้นที่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนี้ แล้วให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ดินที่ยั่งยืนแก่ผู้ร้อง" ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีความเห็นและมติเห็นชอบตามอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ด้วย |
. |
จากนั้น วันที่ 29 ธันวาคม 2551 มีการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ เพื่อพิจารณาเรื่องปัญหาสวนป่าคอนสาร ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และในระหว่างการดำเนินการให้ได้ข้อยุติ ให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ก่อน เนื้อที่ 1,500 ไร่ |
. |
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรที่ดินของสังคมไทย รวมทั้งความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้กำกับดูแลองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ซึ่งชาวบ้านได้ติดตามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด |
. |
ดังนั้นชาวบ้านผู้เดือดร้อนในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย พื้นที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จึงต้องเข้าตรวจสอบพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็น โฉนดชุมชน ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ตกลงร่วมกับเครือข่าย อีกทั้ง เรามีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาบริหารจัดการโดยประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืนของเกษตรกร |
. |
. |
ฝนเริ่มลงเม็ดโปรยปรายยามบ่าย ขณะที่พี่น้องผู้เดือดร้อนต่างเร่งมือจัดทำเพิงพักเพื่อหลบฝน และรอคอยคำตอบจาก รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งรัดดำเนินการตัดสินใจยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาให้เกษตรกรผู้เดือดร้อนจัดการในรูปแบบ "โฉนดชุมชน" ตามมติของคณะทำงานระดับพื้นที่ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มติการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ และแนวทาง นโยบายที่รัฐบาลได้ตกลงและดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย |
. |
อย่างน้อยที่สุด เป้าหมายของพวกเขาในการที่จะได้ที่ดินทำกิน ที่ถูกยึดไปจากนโยบายของรัฐบาลซึ่งเปรียบเสมือนมรดกบาปจากการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของรัฐไทยในอดีต เริ่มมีความหวังมากขึ้น หากผู้ที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาได้เห็นความสำคัญและจริงจังที่จะแก้ไขปัญหาให้กับคนจน โดยยึดแนวทางการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งได้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันก่อนที่จะเข้ามาบริหารประเทศ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |