กฟผ. อ่วมภาระค่าเอฟทีพุ่ง 2.2 หมื่นล้านบาท หลังจากราคาน้ำมัน-ก๊าซฯผันผวน ดันต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น คาดขยับค่าเอฟทีงวดล่าสุดได้ลำบาก
.. |
กฟผ. อ่วมภาระค่าเอฟทีพุ่ง 2.2 หมื่นล้านบาท หลังจากราคาน้ำมัน-ก๊าซฯผันผวน ดันต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น คาดขยับค่าเอฟทีงวดล่าสุดได้ลำบาก |
. |
แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีความผันผวน ส่งผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติผันผวนตามไปด้วย โดยเดือนธ.ค. 2551 ราคาเนื้อก๊าซฯ รวมค่าผ่านท่อ อยู่ที่ระดับ 250 บาทต่อล้านบีทียู และเดือนก.ค. นี้ ราคาเนื้อก๊าซฯ บวกค่าผ่านท่อ อยู่ที่ระดับ 230 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้ ราคาจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 240-250 บาทต่อล้านบีทียู ตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระจากการตรึงค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) |
. |
ทั้งนี้ ล่าสุด ภาระจากการตรึงค่าเอฟที ของ กฟผ.ได้ปรับขึ้นอีก 2,000 ล้านบาทจากเดิม 2หมื่นล้านบาทเพิ่มเป็น 2.2 หมื่นล้านบาท เพราะต้นทุนเนื้อก๊าซฯปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คาดว่าการขึ้นค่าเอฟที งวดปลายปี (ก.ย. -ธ.ค. 2552) เพื่อเกลี่ยภาระดังกล่าวอาจทำได้ยาก ดังนั้นแผนการลดภาระจำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท คำนวณเป็นค่าเอฟที 50 สตางค์ต่อหน่วยในปี 2552 อาจต้องเลื่อนออกไปอีกหนึ่ง ปี |
. |
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีที่ราคาก๊าซฯ อาจจะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 240-250 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันมีการใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าถึง 70%จากเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งหมด |
. |
"กฟผ. ต้องบริหารต้นทุน เพื่อลดผลกระทบจากค่าเอฟทีน้อยที่สุด โดยปลายปีนี้ จะมีการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ที่มีต้นทุนต่ำเข้าระบบเพิ่มเติม จากโครงการน้ำเทิน 2 ในประเทศลาว กำลังผลิต 920 เมกะวัตต์ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากลาว เพิ่มเป็น 4% ของกำลังผลิตทั้งหมด จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทินหินบุน กำลังผลิต 180 เมกะวัตต์ และห้วยเฮาะ 126 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังเร่งผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำอื่นๆเข้าระบบ ได้แก่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ในสัดส่วน 12%" แหล่งข่าว กล่าว |
. |
นายอดุลย์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. กล่าวอีกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าติดลบเฉลี่ย 3.78% โดยพื้นที่ที่ติดลบ ได้แก่ พื้นที่ภาคกลางติดลบ 6.7% รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคเหนือติดลบ 2.9% ส่วนพื้นที่ที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตอยู่ |
. |
ได้แก่ ภาคอีสาน 8% และภาคใต้ 0.8% เนื่องจากในเขตภาคกลางและภาคเหนือนั้น ภาคการผลิตและการท่องเที่ยวชะลอตัว ขณะที่ภาคอีสานมีการใช้ไฟฟ้าเป็นบวกถึง 8% เป็นผลต่อเนื่องจากการที่แรงงานได้รับผลกระทบจากการปลดคนงาน และเดินทางกลับไปทำงานในท้องถิ่น |
. |
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือน หลังจากคาดว่าการใช้ไฟฟ้าจะติดลบน้อยลง โดยเดือนก.ค. นี้คาดว่าติดลบ 3.8% เดือนส.ค. ติดลบ 3.9% เดือนก.ย. ติดลบ 0.3% เดือนต.ค. ติดลบ 2% เดือนพ.ย. บวก 4.6% และเดือนธ.ค. บวก 8.4 % ขณะที่ทั้งปีติดลบ 2.5% |
. |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |