เนื้อหาวันที่ : 2009-07-20 08:24:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1969 views

ผู้ใช้แรงงานอ่วม เดือนพ.ค. ว่างงานพุ่ง 6.6 แสนคน

สสช. เผยอัตราว่างงานพุ่ง ภาคการผลิตสาหัสสุด 2.2 แสนคน อีสานแชมป์ 2.6 แสนกลาง 1.6 แสนคน ระบุจะเร่งสำรวจภาวะการทำงานต่อเนื่องเพื่อวางแผนช่วยเหลือ

 .

นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช.ได้ออกสำรวจจำนวนผู้ว่างงานล่าสุดในเดือน พ.ค. พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 6.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.7% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.1 แสนคนหรืออัตราว่างงานเพิ่มขึ้น 0.2% แต่ลดลงจากเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา 1.6 แสนคน ซึ่งมีผู้ว่างงาน 8.2 แสนคนหรืออัตราว่างงานลดลง 0.4% 

 .

ทั้งนี้ผู้ว่างงานเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 4.2 แสนคน และอีก 2.4 แสนคน เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิตมากที่สุด 2.2 แสนคน รองลงมาภาคการบริการและการค้า 1.4 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 60,000 คน 

 .

ผู้ว่างงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากที่สุดถึง 2.6 แสนคน รองลงมาเป็นภาคกลาง 1.6 แสนคน ภาคเหนือ 1.2 แสนคน ภาคใต้ 70,000 คน และ กทม. 50,000 คน หากเทียบอัตราการว่างงานกับปีก่อน พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด 0.4% คือจาก 1.6% เป็น 2.0% รองลงมาเป็นภาคกลางและภาคใต้ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเท่ากันคือ 0.2% ส่วน กทม. เพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่ภาคเหนือไม่เปลี่ยนแปลง

 .

นางธนนุช กล่าวด้วยว่าจากจำนวนผู้ว่างงานพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาสูงหรือจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะมีอัตราว่างงานที่สูงที่สุดคือ 4% โดยมีผู้ว่างงาน 2.4 แสนคน รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  2.2% โดยมีผู้ว่างงาน 1.1 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.8% หรือมีผู้ว่างงาน 1.1 แสนคน และประถมศึกษา 1.4% หรือมีผู้ว่างงาน 1.2 แสนคน เมื่อเทียบกับปีก่อนพบว่ามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นทุกระดับ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ที่เพิ่มจาก 3.1% เป็น 4%

 .

สำหรับผู้มีงานทำมีจำนวน 37.51 ล้านคน จากผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานรวม 38.41 ล้านคน ขณะที่มีผู้รอฤดูกาล 2.4 แสนคน โดยผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.9 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในทุกสาขา ซึ่งแรงงานในภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 3.7 แสนคน จาก 13.35 ล้านคน เป็น 13.72 ล้านคน 

 .

ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 5.2 แสนคน จาก 23.27 ล้านคน เป็น 23.79 ล้านคน เพิ่มขึ้นในสาขาก่อสร้างมากที่สุด 2.6 แสนคน รองลงมาสาขาการโรงแรมและภัตตาคาร 2.4 แสนคน สาขาการขายส่งและขายปลีกฯ 1.3 แสนคน สาขาการขนส่งฯ 90,000 คน สาขาอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจให้เช่า 10,000 คน 

 .

ส่วนสาขาที่ลดลงเป็นสาขาการผลิตลดลง 1.3 แสนคน สาขาบริหารราชการแผ่นดิน 30,000 คน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ โดยอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลง คือการผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ลดลง 1.3 แสนคน การผลิตยานยนต์ 1.1 แสนคน การผลิตเฟอร์นิเจอร์ 81,000 คน การผลิตเครื่องแต่งกาย 60,000 คน การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 55,000 คน การผลิตอุปกรณ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนลดลง 45,000 คน 

.

ส่วนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในกลุ่มการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.6 แสนคน การผลิตสิ่งทอ 88,000 คน การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 86,000 คน และการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 44,000 คน

.

อย่างไรก็ตาม สสช. จะเร่งสำรวจภาวะการทำงานของประชากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และวางแผนช่วยเหลือผู้ว่างงานต่อไป ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการที่เข้ามารองรับภาวะว่างงาน ทั้งโครงการที่กระทรวงแรงงานได้จัดงานมหกรรมแรงงานขึ้นเกือบทุกเดือน หรือโครงการต้นกล้าอาชีพ ที่มีเป้าหมายที่จะช่วยคนตกงานให้ได้อย่างน้อย 240,000 คน ภายในปี 52 และในปีหน้าตั้งเป้าหมายไว้ 260,000 คน

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์