สหภาพแรงงานข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ ร้องลูกจ้างภาคราชการนับหมื่นคนกำลังเดือดร้อน ถูกกีดกันไม่ได้รับสิทธิประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมและถูกปฏิเสธการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท
. |
นายสุพจน์ พงษ์สุพัฒน์ ข้าราชการระดับ 9 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในฐานะประธานสหภาพแรงงานข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ (สคร.) (http://psu-thailand.org) ออกแถลงการณ์ในนาม สคร. เรื่องความเป็นธรรมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างภาครัฐ โดยระบุว่า ลูกจ้างภาคราชการจำนวนนับหมื่นคนกำลังประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อน เพราะถูกกีดกันมิให้ได้รับสิทธิประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมและถูกปฏิเสธการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจำนวน 2,000 บาท |
. |
โดยลูกจ้างเหล่านี้จะมีการทำสัญญาในรูปแบบจ้างเหมา เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ พนักงานทำความสะอาด พนักงานขับรถ โดยทำสัญญาในรูปแบบจ้างเหมา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คนเหล่านี้มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานราชการ |
. |
นอกจากนี้ ยังมีข้อความระบุมิให้ลูกจ้างดังกล่าวได้รับสิทธิตามกฎหมายประกันสังคมอีกด้วย เป็นเหตุให้ลูกจ้างเหล่านี้ต้องสูญเสียสิทธิ์ต่างๆ 7 ประการที่พึงได้รับตามกฎหมายประกันสังคม เสียสิทธิ์ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 2,000 บาท จากนโยบายของรัฐบาล กรณีถูกเลิกจ้างก็ไม่ได้รับเงินประกันการว่างงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน ทำให้ลูกจ้างตกอยู่ในสภาวะขาดความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว |
. |
แถลงการณ์ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเคยมีการหยิบยกขึ้นพิจารณาหารือในหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงานนานแล้ว แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่แก้ไขอย่างจริงจัง สหภาพข้าราชการฯ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบเสียหายต่อกลุ่มลูกจ้างจำนวนมากทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค |
. |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างในกระทรวงแรงงานควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่นๆ กลับละเลยเพิกเฉยไม่ได้เอาใจใส่ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด สหภาพข้าราชการฯ ได้ทำหนังสือท้วงติงต่อ รมว.แรงงาน และสำนักงานประกันสังคมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า ลูกจ้างเหล่านี้เป็นลูกจ้างรับเหมางาน จึงไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะได้รับตามกฎหมายประกันสังคมและไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 2,000 บาท |
. |
ดังนั้นเพื่อมิให้ความเสียหายของบรรดาลูกจ้างทั้งหลายขยายตัวออกไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเหตุเพิกเฉยไม่รับรู้ถึงความผิดพลาดบกพร่องของสัญญาที่ทำขึ้นของฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สหภาพฯ จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อความเป็นธรรมต่อกลุ่มลูกจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาล |
. |
อนึ่งเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อให้วินิจฉัยและมีคำสั่งต่อบุคคลและหน่วยงาน ได้แก่ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน รมว.แรงงาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายและวินัยกับบุคคลและหน่วยงานดังกล่าว กรณีละเลยอันก่อให้เกิดความเสียหายกับพนักงานเหมาช่วงทั่วประเทศ |
. |
โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานที่มีการจ้างพนักงานเหมาช่วงมากถึง 3,000 คน เนื่องจากได้ปฏิเสธสิทธิอันชอบธรรมไม่ให้ลูกจ้างเหมาช่วงได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมทั้งไม่จ่ายเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ที่มีรายได้น้อยจำนวน 2,000 บาท ทั้งที่คนเหล่านี้มีสถานะเป็นลูกจ้างของส่วนราชการ |
. |
โดยนายสุพจน์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงขอให้ศาลมีคำสั่งต่อไปนี้ 1.ให้ส่วนราชการที่ถูกฟ้องจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันลาป่วยคืนให้แก่ลูกจ้างเหมาช่วงทุกคนที่ถูกหักค่าจ้างในวันลาป่วยย้อนหลังตลอดอายุการทำงานตามสัญญา 2.ให้ สปส.และส่วนราชการที่ถูกฟ้องจ่ายเงินค่าทดแทนการขาดรายได้ระหว่างการลาคลอด 90 วัน ย้อนหลังให้แก่ลูกจ้างที่ตั้งครรภ์หรือเคยมีครรภ์ทุกราย 3.ให้ สปส.จ่ายเงินเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ให้แก่ลูกจ้างเหมาช่วงทุกคน เนื่องจากเป็นผู้มีสิทธิและสถานะเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย |
. |
4.ให้ สปส.ดำเนินการเก็บค่าปรับกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องนำเงินสมทบประกันสังคม แต่กลับไม่ดำเนินการ5.ให้หน่วยราชการที่ถูกฟ้องคืนสิทธิและสถานะนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้าง-ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างเหมาช่วง 6.ให้ส่วนราชการที่ถูกฟ้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามกฎหมาย และ 7.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลหน่วยงานที่ถูกฟ้องพิจารณาโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ตลอดจนวินัยต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทุกราย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย |
. |
"ผมได้ทำหนังสือถึง รมว.แรงงาน ปลัดกระทรวง และเลขาธิการ สปส.ในเรื่องนี้แล้ว แต่ผู้บริหารทั้งหมดกลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการเรื่องให้เห็นชัดว่าผู้บริหารไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างเหมาช่วงควรได้รับ ทำให้ลูกจ้างเหมาช่วงหลายคนไม่พอใจ ต่างโทรศัพท์มาหา บอกว่าได้รับความเดือดร้อนจากสัญญาจ้างเหมาที่ไม่เป็นธรรม |
. |
สวัสดิการต่างๆ สิทธิวันลาหยุด ลาป่วย วันลาคลอดที่ต้องได้รับสิทธิลา 90 วัน คนเหล่านี้ถูกหน่วยงานรัฐเอารัดเอาเปรียบ จ้างงานด้วยเงินเดือนที่น้อยมาก 5,700-8,300 บาท แถมสวัสดิการต่างๆ ก็ไม่มี ไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม 7 กรณี วันไหนลาหรือมาทำงานสายก็ถูกตัดเงินอีก แถมคนเหล่านี้ยังทำงานหนักกว่าข้าราชการบางคนเสียอีก" นายสุพจน์ กล่าว |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |