เนื้อหาวันที่ : 2009-07-17 11:41:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1289 views

TMC เปิดแผนปี 52 ช่วย SMEs ไทยฝ่าวิกฤต

นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมกำลังวิสาหกิจชุมชน พร้อมต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร-เกษตร หนุนการใช้ไอทีกับธุรกิจมากขึ้น เผย 4 กลยุทธ์เด็ดในการทำงาน หวังมุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหา สร้างโอกาสในวิกฤต

TMC เปิดแผนปี 52 ช่วย SMEs ไทยฝ่าวิกฤต นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมกำลังวิสาหกิจชุมชน พร้อมต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร-เกษตร หนุนการใช้ไอทีกับธุรกิจมากขึ้น พร้อมเผย 4 กลยุทธ์เด็ดในการทำงาน "ผนึกกำลังภายใน สวทช. - ประสานหน่วยงานภายนอก - นำร่องวิธีใหม่ - ขยายวิธีการที่     โดดเด่น เน้นเห็นผลเร็ว"  หวังมุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหา สร้างโอกาสในวิกฤต

.

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดแผนการดำเนินงานของ TMC ในปี 2552 เพื่อมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้มากขึ้น 

.

ศ.ดร.ชัชนาถ  เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC)

.

ศ.ดร.ชัชนาถ  เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) เปิดเผยว่า ในสภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทย  TMC ซึ่งมีพันธกิจหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสให้วิสาหกิจไทยโดยบริหารจัดการเทคโนโลยีอย่างครบวงจรจะเข้าไปเน้นการทำงานกับวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น รวมถึง กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักคือ อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย

.

 รวมถึงอุตสาหกรรมดังกล่าวยังสามารถเข้าไปประยุกต์และเกี่ยวข้องกับชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ยังเน้นในการนำ IT เข้าไปช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงเทคโนโลยี และสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนและขยายตลาดให้กับอุตสาหกรรมไทยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่

.

"ขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ  TMC ซึ่งมีพันธกิจหลัก คือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสให้วิสาหกิจไทยโดยบริหารจัดการเทคโนโลยีอย่างครบวงจร จึงปรับแผนการดำเนินงานของ TMC ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างโอกาในวิกฤต ,

.

การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดนผ่านกลไกของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้เป็นฐาน  , ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน โดยเน้นไปที่วิสาหกิจชุมชนมากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือดังกล่าวเกิดผลต่อชุมชนมากขึ้น  , บ่มเพาะธุรกิจสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่มีศักยภาพ  และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในทุกอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ"  ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว

.

ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ยังได้กล่าวว่า การดำเนินงานของ TMC ในปี 2552 จะดำเนินงานภายใต้ 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การผนึกกำลังภายใน สวทช. โดยคัดเลือกเอกชนที่มีความพร้อมมาจับคู่ประสานกับหน่วยวิจัยภายใน สวทช. เพื่อให้ได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ประสานหน่วยงานภายนอก

.

โดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อการสนับสนุนสมาชิกที่เหมาะสม  นำร่องวิธีการใหม่  มุ่งคัดเลือกกลุ่มเอกชนที่เหมาะสม สนับสนุนเป็นโครงการกลุ่ม และกลยุทธ์สุดท้าย คือ ขยายวิธีการที่โดดเด่น เน้นเห็นผลเร็ว โดยร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตสูงขึ้นและมุ่งถ่ายทอดไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเออร์ (Supplier)

.

ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี TMC ยังได้กล่าวถึงการดำเนินงานหลักในปีที่ผ่านมาและงานที่ต้องการผลักดันให้มีการดำเนินการต่อไปในปี 2552 ว่า จากที่ได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้ง สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย หรือ Thai-BISPA เพื่อสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้มีการผลักงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

.

โครงการ smePower เพื่อสนับสนุนมาตรการทางการเงิน เช่น การปล่อยกู้ การค้ำประกันเงินกู้ "InnoBiz Matching Day : Meet the Angels"  ยังเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งเปิดโอกาสให้กับภาคเอกชนที่มี "แหล่งทุน" ได้พบปะแลกเปลี่ยนหาแนวทางความร่วมมือกับนักเทคโนโลยี เพื่อหาแนวทางในการทำธุรกิจร่วมกัน

.

หรือ โครงการ Lab To Market "จากงานวิจัยไปสู่ตลาด" เป็นโครงการที่สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี หรือ TLO จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และร่วมกันผลักดันงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ 

.

ดร.สุพัทธ์  พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

.

ดร.สุพัทธ์  พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สายงานโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม การพัฒนากำลังคน งานวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มองว่า "การพัฒนาคนและการสร้างนวัตกรรม" ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคของความผันผวนและไม่แน่นอนของความต้องการสินค้าและบริการเช่นปัจจุบันนี้ 

.

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องปรับปรุงตนเองใน 3 ด้าน คือ ความรู้ ความชำนาญ และความสามารถ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการของตลาดมากขึ้น  ต้องมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่มากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้  การสร้างพันธมิตรหรือเครือข่าย และการนำ IT ไปใช้เพื่อความอยู่รอด 

.

"ในยุคที่การหางานเป็นเรื่องที่ยาก TMC  ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนบัณฑิตจบใหม่ให้เข้ามารับการบ่มเพาะธุรกิจในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีศักยภาพและต้องการทำธุรกิจเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองตลาดในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า  จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในวิกฤตเช่นนี้ ส่วนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และต้องการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็สามารถเข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์คได้

.

ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งของ TMC ที่สนับสนุนให้มีการนำ IT เข้าไปใช้กับทุกภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นแผนงานหลักของสายโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนการยกระดับวิสาหกิจไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ"  ดร.สุพัทธ์ กล่าว

.

รศ.ดร.สมชาย  ฉัตรรัตนา  รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

.

รศ.ดร.สมชาย  ฉัตรรัตนา  รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สายงานถ่ายทอดเทคโนโลยี  กล่าวว่า  ในส่วนการดำเนินงานของสายงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีในปี 2552 นี้ จะมุ่งเป้าไปที่ 3 ส่วนหลัก คือ 1. การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 2. ความร่วมมือกับวิสาหกิจขนาดใหญ่   และ 3. ความร่วมมือกับสถาบันการเงิน  โดยในส่วนวิสาหกิจชุมชนนั้น เตรียมนำร่องการพัฒนาชุมชน "ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม" แบบบูรณาการครบวงจร ด้วยการนำไอทีเข้าไปช่วยจัดทำเว็บไซต์เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว

.

โดยเผยแพร่ข้อมูลแนะนำชุมชนตลาดน้ำอัมพวาให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก  ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าทะเลแปรรูป อาหารและขนมไทย ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.)  และ การพัฒนาด้านสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น  เช่น การนำเทคโนโลยีด้านเรือไฟฟ้าไร้เสียงจาก NECTEC เข้าไปช่วยขจัดปัญหาเสียงดังของเครื่องยนต์   เพื่อใช้เป็นพาหนะนำนักท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน เป็นต้น

.

นอกจากนี้ ยังเข้าไปสนับสนุนกลุ่มล้านนาคอลเลคชั่น ซึ่งเป็นการร่วมกันของ  3 วิสาหกิจหลักในภาคเหนือ ประกอบด้วย ศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง, เซรามิก และกระเบื้องล้านนา ซึ่งได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น 

.

สำหรับผลการดำเนินงานของ TMC ในปีที่ผ่านมาสามารถช่วยผู้ประกอบการไทยวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้นได้ประมาณ 600 บริษัท ให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีแก่ SMEs ประมาณ 300 โครงการ อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้บริษัทเอกชนทำการวิจัยและพัฒนาได้กว่า 200 ล้านบาท มีผู้ประกอบการใหม่เข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีมากกว่า 150 ราย สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาของเอกชนผู้เช่าพื้นที่ได้กว่า 130 โครงการ และก่อให้เกิดการจ้างงานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 600 ตำแหน่ง รวมแล้วสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท