ตั้งแต่เดือน ม.ค. - พ.ค. คนงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว 84,876 คน แรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์หนักสุดโดนไปกว่า 2 หมื่นคน ล่าสุดแรงงานหลายแห่งออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากปัญหาการเลิกจ้าง
. |
ตั้งแต่เดือน ม.ค. - พ.ค. คนงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว 84,876 คน โดยแรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่โดนไปกว่า 20,923 คน ล่าสุด แรงงานหลายแห่งออกมาเรียกร้องปัญหาการเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนงานไทยอินเตอร์เนชั่นฟูต คนงานฟูจิตสึ และคนงานเซฟทีคัท |
. |
คนงานไทยอินเตอร์เนชั่นฟูตยื่นฟ้องเรียกร้องเงินชดเชยจากการที่บริษัทเลิกจ้างงาน |
16 ก.ค.52 - ที่ศาลแรงงานภาคที่ 9 สงขลา ลูกจ้างบริษัทไทยอินเตอร์เนชั่นฟูต จำกัด จำนวน 160 คน เดินทางมาที่ศาลฯ เพื่อยื่นฟ้องกับบริษัทไทยอินเตอร์ฯ เรียกร้องเงินชดเชยจากการที่บริษัทเลิกจ้างงาน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนกับคนงาน ไม่มีงานทำและทางบริษัทไม่ได้จ่ายค่าชดเชย โดยอ้างว่าทางบริษัทไม่มีเงินจ่ายให้คนงาน และให้ไปหางานใหม่ทำกันเอง โดยบริษัทไม่รับผิดชอบ ทำให้คนงานไม่มีทางออกจึงเดินทางขอความเมตตาจากศาลแรงงาน |
. |
คนงาน "ฟูจิตสึ" ลุกฮือชุมนุมใหญ่ เกรงการขายหุ้นให้โตชิบ้าจะกระทบกับพนักงาน |
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา พนักงานบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย)จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำนวน 2,000 คน รวมตัวหน้าโรงงานเลขที่ 60/90 นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายจ้างหลังจากทราบข่าวบริษัทฟูจิตสึขายหุ้นให้กับบริษัท โตชิบา ประเทศไทย จำกัด เกรงจะมีผลกระทบกับพนักงาน |
. |
นายณรงค์ อรุณประเสริฐ อายุ 37 ปี แกนนำประท้วง เปิดเผยว่า เมื่อบริษัทฟูจิตสึควบรวมกิจการกับบริษัทโตชิบา จะเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารบริษัทภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม อาจมีผลต่อสวัสดิการและเวลาการทำงาน คนงานจะเสียเปรียบทางบริษัท โดยเฉพาะเวลาทำงาน ที่แต่เดิม เริ่มงานเวลา 07.00 น. เลิกงานเวลา 15.00 น. และถ้าเลยจากนั้นไปได้ค่าล่วงเวลาหรือโอเวอร์ไทม์ (โอที) วันละ 4 ชั่วโมง แต่ภายหลังจากควบรวมกิจการ ต้องทำงานตั้งแต่เวลา 07.30-16.30 น. แต่คิดค่าล่วงเวลาให้เพียงวันละ 2 ชั่วโมง |
. |
นายณรงค์กล่าวว่า ยื่นข้อเสนอจำนวน 5 ข้อต่อผู้บริหาร คือ 1.ขอชั่วโมงทำงานของพนักงานให้กลับมาเหมือนเดิม 2.ยกเลิกการทำงานเหลื่อมเวลา คนงานต้องมาทำงานทดแทน 3.ให้บริษัทฟูจิตสึ จ่ายค่าชดเชย แล้วนับอายุงานใหม่เมื่อเริ่มงานกับทางโตชิบา 4.พนักงานทุกคนที่ร่วมเรียกร้องสิทธิจะไม่มีความผิดทุกประการ 5.ขอคำตอบจากผู้บริหารภายในวันที่ 15 กรกฎาคม แล้วพนักงานจะกลับไปทำงานตามเดิม |
. |
นายสุวิทย์ สุมาลา สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า นายนรชัย โกยแก้วพริ้ง รองประธานบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเจรจากับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์ ทั้งนี้ บริษัทฟูจิตสึยังไม่เปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท |
. |
คนงานเซฟทีคัท เรียกร้องร้องความเป็นธรรมหน้าโรงงาน หลังถูกเลิกจ้าง |
วันเดียวกัน (15 ก.ค. 52) ที่ จ.ชัยนาท เมื่อเวลา 11.00 น. พนักงานโรงงานเซฟทีคัทของบริษัท ซี.เอส.เอฟ ที คัท จำกัด จำนวน 241 คน รวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายจ้าง หลังจากมีคำสั่งให้พนักงานพ้นสภาพการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมเป็นต้นมา โดยชุมนุมบริเวณโรงงานเลขที่ 52 หมู่ 12 ต.โพงาม อ.สรรคบุรี |
. |
นายมนัส ชุบชื้น ประธานสหภาพแรงงานบริษัท ซี.เอส.เอฟ ที คัท กล่าวว่า นายจ้างมีคำสั่งให้เลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ กับพนักงานจำนวน 241 คน นายจ้างอ้างเหตุพนักงานทั้งหมดผละงานละทิ้งหน้าที่ คำสั่งดังกล่าวสร้างความเดือดร้อน พนักงานขอเจรจาแต่นายจ้างเพิกเฉย อีกทั้งยังตัดสวัสดิการต่างๆ และลดเวลาการทำงาน |
. |
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวาล โสตถิวันวงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทซี.เอส.เอฟ ที คัท ขอให้พนักงานที่รวมตัวหน้าโรงงานเปิดทางให้เข้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องใช้และเครื่องตัดไฟกว่า 10,000 ชิ้น ที่อยู่ภายในโรงงาน และขอให้ทุกคนออกจากโรงงาน แต่พนักงานยังยืนกรานชุมนุมจนหวิดเกิดเหตุปะทะ ต่อมาตำรวจจาก สภ.สรรคบุรี กว่า 30 นาย เข้าห้ามปรามเหตุการณ์จึงยุติลง |
. |
ปีนี้เลิกจ้างไปกว่าแปดหมื่นคนแล้ว อิเล็กทรอนิกส์เลิกจ้างสูงสุด |
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รายงานตัวเลขการเลิกจ้าง ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการไปแล้วจำนวน 1,003 แห่ง และได้เลิกจ้างมีคนงานถูกเลิกจ้างจำนวน 84,876 คน โดยแบ่งตามประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างคนงานได้ดังนี้ |
. |
1. การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการเลิกจ้างจำนวน 110 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 20,923 คน |
2. ผลิตสิ่งทอ สิ่งทอสิ่งทัก เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้า มีการเลิกจ้างจำนวน 114 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 15,709 คน |
3. การผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์ ขนส่ง มีการเลิกจ้างจำนวน 81 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 12,784 คน |
4. การผลิตเครื่องจักร มีการเลิกจ้างจำนวน 48 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 9,007 คน |
5. การผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ มีการเลิกจ้างจำนวน 81 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 7,355 คน |
. |
โดยสาเหตุในการเลิกจ้าง เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน คำสั่งซื้อสินค้าลดลง หมดสัญญาหรือถูกยกเลิกสัมปทาน และเงินบาทแข็งค่าขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกลดลง นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างอีกจำนวน 429 แห่ง มีลูกจ้างรวม 184,250 คน แบ่งออกเป็นลูกจ้างที่เสี่ยงต่อการเลิกจ้างสูง จำนวน 61,319 คน และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในลักษณะถูกลดเงินโบนัส จำนวน 122,931 คน |
. |
โดยกิจการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นประเภทการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตยานยนต์ อุปกรณ์ขนส่ง ผลิตเครื่องจักร เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะโลหะ ตามลำดับ ซึ่งเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในสัดส่วนสูง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง จึงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาคการผลิต และการจ้างงานของไทย |
. |
ที่มาเรียบเรียงจาก: สารวิจัยธุรกิจธนาคารกรุงไทย, เว็บไซต์มติชน, เว็บไซต์ไทยรัฐ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |