การกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอากรนั้น เป็นอีกมาตรการหนึ่งของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการ เพื่อการขยายตัวด้านการลงทุน
การกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอากรนั้น เป็นอีกมาตรการหนึ่งของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเพื่อการขยายตัวด้านการลงทุน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐบาล และป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย |
. |
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีอากร ทั้งอากรขาเข้า ภาษี สรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งได้รับยกเว้นโดยไม่ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า โดยจะมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้บริการผ่านพิธีการทางศุลกากรตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยระบบ E-Free Zone หรือเขตปลอดอากรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการพัฒนาไปสู่ระบบไร้เอกสารในเขตปลอดอากรนั่นเอง |
. |
. |
เขตปลอดอากรคืออะไร |
เขตปลอดอากร หมายถึง เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ โดยของที่นำเข้าไปในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอีกประการหนึ่งของกรมศุลกากร เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดยให้ภาคเอกชนจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบัน กรมศุลกากรได้อนุมัติให้เอกชนจัดตั้งเขตปลอดอากรไปแล้ว จำนวน 23 แห่ง |
. |
พื้นที่ในเขตปลอดอากรนั้น จะเปรียบเสมือนเป็นบริเวณนอกหรือต่างประเทศ (Outside custom terrritory) ผู้ประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีอากร ทั้งอากรขาเข้า ภาษี สรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า สำหรับการนำของเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น โดยในบริเวณเขตปลอดอากรจะมี เจ้าหน้าที่ศุลกากรให้บริการผ่านพิธีการทางศุลกากรตลอด 24 ชั่วโมง |
. |
หลักการของเขตปลอดอากร |
1.เป็นเขตปลอดภาษี หรืออาจมีการจัดเก็บภาษีภายในที่ตั้งสำหรับบางประเทศ 2.เป็นเขตที่เปรียบเสมือนเป็นดินแดนในต่างประเทศ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศุลกากรในประเทศ 3.ลดกฎระเบียบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 4.ขั้นตอนการดำเนินการปฏิบัติได้ง่ายและสะดวก 5.มีการอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น 6.ผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร ต้องเป็นเจ้าของพื้นที่หรือมีสิทธิในการใช้พื้นที่นั้น ๆ |
. |
เขตปลอดอากรอิเล็กทรอนิกส์ |
เนื่องจากการประกอบกิจการในเขตปลอดอากรส่วนใหญ่จะเป็นงานพิธีการด้านการนำสินค้าเข้า และส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร และการนำของในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร ตลอดจนการขอนำของออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งผู้ประกอบการจะผ่านพิธีการใบขนสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น ตามแผนยุทธศาสตร์ของกรมศุลกากรจึงได้นำเอาระบบเขตปลอดอากรอิเล็กทรอนิกส์(E-Free Zone : E-FZ) ซึ่งเป็นระบบงานที่ทันสมัยสอดคล้องกับระบบพิธีการศุลกากร มาใช้รองรับการขยายตัวด้านการลงทุน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายรัฐบาล |
. |
เสริมทับด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ |
ทางกรมศุลกากรได้ร่วมมือกับบริษัท อมตะคอร์ปเรชั่น จำกัด ผู้จัดตั้งเขตปลอดอากรอมตะนคร และบริษัท แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความตกลงที่จะร่วมกันพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ระบบสารสนเทศ และหลักเกณฑ์การให้บริการ รวมทั้งจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบกิจการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกที่อยู่ในเขตปลอดอากรอมตะนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวร่วมในโครงการนำร่องจัดทำระบบติดตามการนำเข้า-ส่งออกสินค้า การควบคุมระยะเวลาการขนส่ง การโอนย้ายของจากเขตปลอดอากรและเขตอุตสาหกรรมส่งออก มาใช้ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ Active RFID (Radio Freguency Identification) โดยการเชื่อมโยงข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้า การให้บริการ และการพัฒนาให้เป็นเขตปลอดอากรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Free Zone) รวมทั้งพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า การเคลื่อนย้ายสินค้า การให้บริการ และการควบคุมสินค้าคงคลัง เพื่อลดขั้นตอน เอกสาร เวลา การปฏิบัติงาน ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม |
. |
ประโยชน์ที่จะได้รับ |
เป็นความร่วมมือในการให้บริการผ่านพิธีการศุลกากร ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้า รวมถึงการตรวจสอบสินค้าคงคลังด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการประสานงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาการให้บริการผ่านพิธีการศุลการกร การตรวจปล่อย และการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าที่รวดเร็ว ถูกต้อง ทันเวลา เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไร้เอกสารให้เกิดความชัดเชน ถูกต้อง แม่นยำและสามารถนำข้อมูลไปใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่อยู่ในเขตปลอดอากรรวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลกอีกด้วย |
. |
สรุป |
การนำเอาระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในการบริการผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มศักยภาพของประเทศเพื่อให้มีมาตรฐานในการตรวจปล่อยและการควบคุมเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ แล้วยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสูง ซึ่งจะช่วยให้การให้บริการและการพัฒนาระบบเขตปลอดอากรอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Free Zone มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น |
. |
เอกสารอ้างอิง |
|
- www.ieat.go.th |
- บทสัมภาษณ์เรื่อง "E-Free Zone" โดยนายนรินทร์ กัลยาณมิตร เลขานุการกรมศุลกากร ฯ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย |