ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์เผยเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ชี้อย่างเร็วสุดไตรมาส 4 ปีนี้
ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์เผยเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ชี้อย่างเร็วสุดไตรมาส 4 ปีนี้ |
. |
. |
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 แต่ไม่เห็นว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะการที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดภาวะขาลงนั้น อย่างเร็วที่สุดที่น่าจะเป็นไปได้คือ ไตรมาส 4 ปี 2553 |
. |
SCB EIC ได้ปรับฐานตัวเลข GDP ที่แท้จริงเป็นดัชนี โดยให้ค่าฐาน (100) อยู่ที่ระดับ GDP สูงสุดก่อนขาลงในปัจจุบัน คือ GDP ของไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเคลื่อนไหวตามฤดูกาล โดย GDP มีแนวโน้มที่จะตกลงมากจากช่วงไตรมาสแรกไปไตรมาส 2 |
. |
จากนั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 3 และเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของทั้งภาคเกษตร การผลิตและบริการ (โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว) โดยเศรษฐกิจขาลงนั้นเริ่มเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 เนื่องจาก GDP ในไตรมาสนี้กลับทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 แทนที่จะฟื้นกลับขึ้นอย่างแข็งแกร่งตามรูปแบบที่เคยเป็น |
. |
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าระดับดัชนีของไตรมาส 2 ปี 2552 อยู่ที่ 91 หมายความว่า GDP ที่แท้จริงในไตรมาส 2 ปี 2552 ต่ำกว่าจุดสูงสุดก่อนหน้านี้ (ไตรมาส 4 ปี 2550) อยู่ 9% ซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของช่วงขาลง จึงเห็นว่าเศรษฐกิจอาจถึงผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ผ่านมา |
. |
SCB EIC ยังคาดว่ายอดส่งออกของไทยจะดีขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2552 เนื่องจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยอดส่งออกสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่มีตัวชี้วัดที่ดีขึ้นติดต่อกัน ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะฟื้นตัวก่อน คือ เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งวัตถุดิบพื้นฐาน โดยได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของจีน |
. |
โดยจีนมียอดนำเข้าจากไทยสูงกว่าการนำเข้าจากภูมิภาคอื่นๆ โดยคิดเป็น 80% ของระดับก่อนเศรษฐกิจขาลงนอกจากนี้ ผลพวงจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังยังเป็นแรงเสริมในการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัตถุดิบพื้นฐาน เช่น เหล็กและเหล็กกล้า รวมทั้งซิเมนต์ แต่แรงเสริมนี้อาจใช้เวลานานกว่าที่คิด เพราะมีระยะเวลาดำเนินการและเบิกจ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง |
. |
อย่างไรก็ตาม การคาดหวังให้ GDP กลับขึ้นมายังระดับปี 2550 อีกครั้ง ดูไม่น่าเป็นไปได้เร็ว เพราะอย่างเร็วที่สุดที่ไทยจะสามารถพ้นจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวได้อาจเป็นภายในไตรมาส 4 ปีนี้ |
. |
ทั้งนี้ ไทยก็ยังต้องการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2553 ประมาณ 4% เพื่อทำให้ภาพรวมกลับไปเท่ากับระดับสูงสุดในปี 2550 ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยากท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า |
. |
ภาคการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า และเป็นความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะมีความเชื่อมโยงกับภาพเศรษฐกิจโดยรวมและมีการจ้างงานสูง SCB EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้า และรายได้จากการท่องเที่ยวจะตกลงมากถึง 15% และ 20% ตามลำดับในปี 2552 |
. |
ขณะที่คาดว่าในปี 2553 จะมีการเติบโตในส่วนนี้เท่ากับ 6% และ 12% ตามลำดับ ซึ่งไม่มากพอที่ทำให้ไทยกลับไปสู่ระดับก่อนขาลง ทั้งนี้เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวหลักของไทยโดยเฉพาะยุโรป ซึ่งใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเป็น 2 เท่าของนักท่องเที่ยวในเอเชียนั้น มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้า |
. |
ภาคอุตสาหกรรมที่รองรับแรงงานรายได้น้อยจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ฟื้นตัวได้ช้า เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งโดยเฉลี่ยมักจะได้รับค่าจ้างที่ต่ำ จึงยิ่งได้รับผลกระทบจากค่าจ้างที่ลดลง โดยสะท้อนให้เห็นจากยอดขายมอเตอร์ไซค์และรถปิคอัพที่ลดลง 40-50% |
. |
นอกจากนี้ ที่พักอาศัยในตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับล่าง เช่น คอนโดมิเนียมและบ้านราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งการใช้จ่ายของผู้มีรายได้กลุ่มนี้ ก็น่าจะฟื้นตัวช้าด้วย |
. |
เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวไปในแนวทางการเติบโตแบบใหม่ที่โตน้อยกว่าเดิม เพราะการส่งออกจะมิได้เป็นพลังขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพเช่นแต่ก่อน ครัวเรือนสหรัฐฯ เองไม่สามารถเป็นแหล่งผู้บริโภคที่โลกจะหันไปพึ่งได้ดังที่เคยเป็น และเศรษฐกิจจีนเพียงลำพังก็ไม่อาจทำบทบาทนั้นแทนได้ ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในการสร้างอุปสงค์ภายในประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับค่าจ้างและอัตราการเพิ่มผลผลิต เพื่อป้องกันมิให้ไปลงท้ายที่การพึ่งพาอุปสงค์ด้านการส่งออกอยู่เช่นเดิม |
. |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |