เนื้อหาวันที่ : 2006-11-07 21:42:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1605 views

กระทรวงคมนาคมระบุรถไฟฟ้าเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างในปี 2550

กระทรวงคมนาคม ระบุจะพยายามก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นแรกในปีหน้า พร้อมยืนยันการใช้แนวทาง พ.ร.บ.ร่วมทุน ภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเอกชนประมูลเป็นผู้เดินรถให้บริการ

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุจะพยายามก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นแรกในปีหน้า พร้อมยืนยันการใช้แนวทาง พ.ร.บ.ร่วมทุน ภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเอกชนประมูลเป็นผู้เดินรถให้บริการ จะไม่ทำให้กระบวนการล่าช้า ขณะที่ สนข.กำหนดรายละเอียด แนวทางในการก่อสร้าง 2 แบบ คือรถไฟฟ้าแบบยกระดับ ใช้แบบออกแบบรายละเอียด (Detail Design) และเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน ใช้แบบก่อสร้างพร้อมออกแบบ (Design And Built)

.

พลเรือเอกธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติกรอบการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทางรวม 23 กม. วงเงิน 29,160 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ-บางแค และหัวลำโพง-ท่าพระ 27 กม.วงเงิน 52,581 ล้านบาท สายสีแดง รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน 41 กม.วงเงิน 53,985  ล้านบาท รวมวงเงินก่อสร้าง  165,402 ล้านบาท ระยะทาง 118 กม. และสายสีเขียว  2 เส้นทาง คือ เขียวเข้ม ช่วงรังสิต-สะพานใหม่ 13 กม. วงเงิน14,737 ล้านบาท และเขียวอ่อน สะพานแบริ่ง (อ่อนนุช) สมุทรปราการ ระยะทาง 14 กม.วงเงิน 14,939 ล้านบาท

.

โดยแนวทางในการดำเนินการก่อสร้างจะเป็นแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามพระราชบัญญัติร่วมทุน พ.ศ. 2535 โดยยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวมีความจำเป็นและจะไม่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า โดยหลังจากนี้จะมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์ รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 5 เส้นทาง ใช้ระยะเวลา 2 เดือน หลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาประมูลไม่เกิน 6 เดือน และรัฐบาลจะพยายามเริ่มก่อสร้างเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งให้ได้ ภายในปี 2550

.

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ดำเนินการด้วยความโปร่งใส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว

.

ด้านนายไมตรี ศรีนราวัฒน์  ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  กล่าวว่า แนวทางในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 5 เส้นทางนี้ จะมีลักษณะการก่อสร้าง  2  แบบ  คือ สำหรับทุกเส้นทาง ที่เป็นระบบรถไฟลอยฟ้า ในส่วนนี้จะใช้การออกแบบและก่อสร้างวิธีแบบออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ส่วนเส้นทางที่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน เช่นสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง- ท่าพระ จะใช้การออกแบบก่อสร้าง แบบก่อสร้างพร้อมออกแบบ (Design And Built) เนื่องจากการก่อสร้างอาจต้องมีการปรับแบบเมื่อมีการขุดเจาะเส้นทางในอนาคต

.

ส่วนการใช้แนวทางตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบอาณัติ และเดินรถให้บริการนั้น  แนวทางดังกล่าวทำให้ภาครัฐลดวงเงินลงทุนได้กว่า 40,000 ล้านบาท.