เนื้อหาวันที่ : 2009-07-14 18:32:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2147 views

นิวเคลียร์ ขีปนาวุธ ความท้าทาย และศึกสายเลือดเหนือคาบสมุทรเกาหลี

อุณหภูมิความร้อนระอุบนคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ระลอกใหม่ไปอีกหนึ่งคำรบ วิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกติดตามอย่างใกล้ชิด

.

อุณหภูมิความร้อนระอุบนคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ระลอกใหม่ไปอีกหนึ่งคำรบ ทิ้งช่วงไม่นานนักจากที่ได้กระหน่ำยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้และไกลส่งท้ายการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งที่สอง สนองพระเดชพระคุณท่านผู้นำคิม จอง-อิล เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา         

.

วิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยความที่เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระดับโลกซึ่งพิสูจน์ได้จากผลสำรวจของกัลลอพโพลล์ที่ว่า ขณะนี้มีชาวอเมริกัน 51% มองว่าเกาหลีเหนือคือผู้สร้างภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐตัวฉกาจอันดับหนึ่ง แซงหน้าคู่อริอย่างอิหร่าน ไปเรียบร้อยแล้ว 

.

สารพัดวิชาจากน้ำมือของเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่ทั่วโลกจะยัดเยียดบท "ผู้ร้าย" ให้กับประเทศคอมมิวนิสต์เจ้านี้ ขณะที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐ คือ ตัวละครหลักที่ช่วยขับเคลื่อนให้การเดินเรื่องทุกฉากทุกตอนต่อจากนี้ยิ่งเข้มข้น น่าติดตาม และยากจะคาดเดา 

.
ตอนที่ 1: นิวเคลียร์...คืนชีพ

...ปฐมบทแห่งภัยคุกคามด้านความมั่นคงบนแผ่นดินเกาหลีเหนือเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2549 เมื่อประเทศดังกล่าวทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก เหตุการณ์ครั้งนั้นผลักดันให้เกาหลีเหนือขึ้นทำเนียบเป็นประเทศผู้ครอบครองนิวเคลียร์ลำดับที่ 9 ของโลกต่อจากจากสหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน และอิสราเอล...

.

ภาคต่อของปฐมบทการทดลองนิวเคลียร์ได้ฤกษ์เปิดฉากอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 แม้บางกระแสอาจมองว่า ผู้นำคิม จอง-อิล ของเกาหลีเหนือดีแต่ใช้ลูกไม้เดิมๆมาข่มขวัญนานาชาติ แต่ลูกไม้เดิมที่ว่านี้กลับ "เด็ด" กว่าครั้งก่อนเป็นไหนๆ เพราะการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งล่าสุดเกิดขึ้นไล่หลังครั้งแรกเพียง 3 ปี ที่สำคัญอานุภาพของมันยังรุนแรงกว่าที่ผ่านมาถึง 5 เท่า หรือเทียบได้กับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 4.4-4.7 ริกเตอร์เลยทีเดียว 

.

ทันทีที่การฟื้นคืนชีพของนิวเคลียร์สามารถเขย่าขวัญสั่นประสาทชาวโลกได้เป็นผลสำเร็จ บรรดาผู้วิเคราะห์เจาะลึกสถานการณ์โลกต่างก็ออกมาแสดงทัศนะต่อเหตุการณ์ครั้งนี้กันอย่างน่าสนใจ โดยศาสตราจารย์ยาง มู-จิน จากมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาเกาหลีเหนือในกรุงโซลออกมาแสดงความเห็นว่า การชุบชีวิตนิวเคลียร์ให้มีอานุภาพร้ายแรงขึ้นครั้งนี้มีแรงกดดันจากปัจจัยนอกประเทศ โดยโสมแดงหวังล่อเป้าให้สหรัฐเปิดการเจรจาโดยตรง เพราะเล็งเห็นถึงผลกำไรที่เกาหลีเหนือจะกอบโกยได้จากการเจรจาลดอาวุธ 

.

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนตีกรอบปัจจัยด้วยการย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ด้วยเห็นว่าการทดลองนิวเคลียร์ที่ผ่านมาอาจเป็นความพยายามของคิม จอง-อิลที่ต้องการปลุกกระแสรักชาติกลบเกลื่อนปัญหาเศรษฐกิจตกสะเก็ด รวมถึงรายงานล่าสุดจากกระทรวงยุทธศาสตร์และการเงินและสถาบันการพัฒนาเกาหลีที่คาดว่า ในปีนี้โสมแดงจะเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหารถึง 840,000 ตัน        

.

ขณะเดียวกันคิม จอง-อิล ก็หวังที่จะตอกย้ำอำนาจสูงสุดของตนบนแผ่นดินเกาหลีหนือในช่วงที่เตรียมส่งต่ออำนาจให้กับทายาททางการเมืองต่อไป หลังเจอมรสุมข่าวเรื่องปัญหาสุขภาพรุมเร้าตลอดมา การทดลองนิวเคลียร์ครั้งนี้จึงเข้าตำรา "ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว"

.
ตอนที่ 2: ขีปนาวุธ...เขย่าขวัญ

...เมื่อการทดลองนิวเคลียร์ไต้ดินครั้งที่สองของเกาหลีเหนือในวันที่ 25 พ.ค.ยังไม่สาแก่ใจ โสมแดงจึงจัดแจงยิงขีปนาวุธชุดใหญ่ ทั้งที่มีพิสัยทำการใกล้และไกลเพื่อกำนัลความน่าสะพรึงกลัวแก่ทั่วโลก แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า ท่าทียั่วยุเช่นนี้จะก่อให้เกิดเรื่องวุ่นๆตามมาอีกไม่รู้จบ....   

.

ทิ้งช่วงห่างจากการยิงขีปนาวุธก่อนหน้านี้เพียงเดือนเศษ เกาหลีเหนือก็ออกมาสำแดงฤทธิ์เดชด้วยการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 2 ลูกจากเมืองวอนซาน ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อเย็นวานนี้  หลังจากที่มีข่าวว่า เกาหลีเหนือประกาศห้ามเดินเรือบริเวณชายฝั่ง 10 จุด ตามแนวทะเลญี่ปุ่นและทะเลเหลืองออกมาไม่เว้นแต่ละวัน 

.

หลายฝ่ายเชื่อว่าท่านผู้นำคิม จอง-อิล ไม่ต่างจากเด็กที่เรียกร้องความสนใจให้มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ยื่นมือช่วยเหลือท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ใกล้ล่มสลาย ซ้ำร้ายยังถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรด้านการเงินเข้าที่หนักข้อมากขึ้น อาทิ การตัดเส้นทางการเงินระหว่างเกาหลีเหนือกับโลกภายนอก                                                                                 

.

การอายัดทรัพย์สินบริษัทของเกาหลีเหนือ การขยายกรอบการห้ามค้าอาวุธกับเกาหลีเหนือ และห้ามเกาหลีเหนือส่งออกอาวุธทุกชนิด ดังนั้น การยิงขีปนาวุธของโสมแดงจึงเท่ากับแสดงเจตจำนงค์ให้มหาอำนาจเปิดการเจรจาต่อรองเพื่อขอความช่วยเหลือเป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่ในทางกลับกัน หากยังไม่มีชาติใดอ่อนข้อให้ ท่านผู้นำคิม จอง-อิล ก็พร้อมจะกดปุ่มยิงขีปนาวุธต่อไปอย่างไม่ยอมวางมือ 

.

เมื่อการยิงขีปนาวุธเข้ามามีเอี่ยวกับระบบเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์จึงไม่สามารถนิ่งดูดายได้ การชี้แนะถึงทางออกจึงมีมาอย่างไม่ขาดสายเช่นกัน โดยนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าฟังว่า หากจะคิดแก้ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลีแบบยั่งยืนแล้วละก็คงต้องชักจูงให้โสมแดงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจให้ได้เหมือนอย่างที่ "จีน" และ "เวียดนาม" สามารถนำพาประเทศให้กลายเป็น "เสือเศรษฐกิจ" ที่น่าจับตามองมาแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเศรษฐกิจรอดพ้นจากความล่มจม ผู้คนก็กินอิ่มนอนอุ่น และสุดท้ายรัฐบาลก็จะได้ใจประชาชนจนไม่ต้องเกรงว่าจะเสียอำนาจและออกมาแสดงแสนยานุภาพด้วยการยิงขีปนาวุธระรานชาติอื่นอย่างทุกวันนี้

.
ตอนที่ 3: ดื้อรั้น ยั่วยุ ท้าทาย…

...."ว่านอนสอนง่าย" คงใช้ไม่ได้กับเกาหลีเหนือ เพราะไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่สามารถปราบ "ม้าพยศ" ตัวนี้ได้อยู่หมัด ขนาดที่ว่านายบารัค โอบามา ผู้นำแห่งพญาอินทรี หรือนายทาโร่ อาโสะ นายกฯแดนซามูไรยังจนปัญญา และแม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาในการออกมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือให้สาสมกับโทษที่โสมแดงทำไว้ แต่ก็ใช่ว่าจะกำราบเกาหลีเหนือได้ง่ายอย่างที่คิด...

.

ดื้อรั้น ยั่วยุ ท้าทาย  นิยามของเกาหลีเหนือที่สะท้อนให้เห็นได้จากกรณีทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างไม่ลืมหูลืมตา หนำซ้ำยังไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประชาคมโลก จนกระทั่งวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตัวเอกระดับแม่เหล็กอย่างสหรัฐประกาศขยายเวลาใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจด้วยการสั่งห้ามทำการค้ากับเกาหลีเหนือต่อไปอีก 1 ปี ต่อเนื่องจากที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้เพิ่มโทษไปแล้วในก่อนหน้านี้ 

.

แม้ทั่วโลกจะคาดโทษโสมแดงรุนแรงขึ้น แต่ก็อย่าคิดว่า เกาหลีเหนือจะยอมโอนอ่อน ผ่อนปรนท่าทีแข็งกร้าวลงมาง่ายๆ เพราะเกาหลีเหนือเคยปล่อยให้ตนจมปลักอยู่กับบทลงโทษเหล่านั้น ทั้งนี้ นอกจากเกาหลีเหนือจะ "ดื้อรั้น" ยิงขีปนาวุธออกมาอย่างไม่กริ่งเกรงบารมีของมหาอำนาจแล้ว ชาติดังกล่าวยังแสดงความ "ยั่วยุ" ด้วยการประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่เข้มข้นไปจนถึงผลิตอาวุธจากพลูโตเนียมที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงกว่าเก่าอีกหลายเท่าตัว นอกจากนี้ โสมแดงยังแสดงท่าที "ท้าทาย" การใช้มาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นด้วยการขู่ว่าจะใช้กำลังทางทหารตอกกลับไปเช่นกัน

.
ตอนที่ 4: ศึกสายเลือด...สายใยสองเกาหลี

ความเดิมตอนที่แล้ว
         ...สายใยของสองเกาหลีที่ถือเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกันต้องขาดสะบั้นลง นับตั้งแต่เกิดสงครามเกาหลีที่กินเวลานาน 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2493-2496 จนนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศบนคาบสมุทรเกาหลีให้เป็นเกาหลีเหนือ — เกาหลีใต้ ณ เส้นขนานที่ 38 บนแผนที่โลกในปัจจุบัน...

.

ประวัติศาสตร์อาจกลับมาซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อหลายกระแสคาดว่า เกาหลีเหนืออาจเป็นผู้จุดเถ้าถ่านของไฟสงครามที่ยังไม่มอดดีให้ปะทุขึ้นใหม่จนกลายเป็นสงครามเกาหลีภาค 2 ได้ในอนาคต หลังจากที่โสมแดงเด็ดบัวไม่เหลือใยด้วยการฉีกข้อตกลงสงบศึกกับเกาหลีใต้ที่มีขึ้นเมื่อปี 2496 อย่างไม่มีชิ้นดี   

.

ผู้สันทัดกรณีมองว่า ชนวนไฟสงครามครั้งใหม่อาจเริ่มต้นจากจุดที่เกาหลีเหนือเกิดอาการควันออกหู หลังเกาหลีใต้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการ Proliferation Security Initiative (PSI) ของสหรัฐที่มีเป้าหมายในการห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีอานุภาพการทำลายล้างสูงเพื่อหวังแก้เผ็ดที่โสมแดงทดลองนิวเคลียร์เป็นครั้งที่สอง จนกระทั่งโสมแดงตราหน้าโสมขาวว่าเป็นฝ่าย "กระหายสงคราม" 

.

อย่างไรก็ตาม หากสงครามเกาหลีภาค 2 เกิดขึ้นจริง นักวิเคราะห์มองว่าโสมแดงเองที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตั้งแต่หน้าประตู แม้จะมีกำลังทหารมากมายและมีอาวุธทีเด็ดในครอบครอง แต่เกาหลีใต้ที่กำลังพลน้อยกว่าจะได้เปรียบตรงกำลังสนับสนุนจากชาติพันธมิตรโดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

.

ซึ่งมีกองกำลังทหารและฐานทัพประจำการอยู่ทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เกาะกวม และอีกหลายแห่งในภูมิภาคแปซิฟิก ที่สำคัญหากผลลงเอยเช่นนั้นจริง สงครามครั้งนี้อาจบานปลายกลายเป็นศึกหลั่งเลือดล้างตระกูลคิม จอง-อิล ผู้เป็นหัวใจของปัญหาทั้งหมดให้สูญอำนาจ และตายจากไปพร้อมกับระบอบคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ 

.
ตอนต่อไป... 

ดีกรีความร้อนแรงบนคาบสมุทรเกาหลีใน "ตอนต่อไป" จะยิ่งร้อนเป็นไฟ หรือคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดเดาได้ รวมถึงยังไม่มีใครรู้ว่า "ตอนจบ" ของเรื่องจริงที่ไม่อิงนิยายเรื่องนี้จะปิดฉากลงอย่างไร แต่เหนือสิ่งอื่นใด เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามอง เพราะทั้งนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ ความท้าทาย และศึกสายเลือด คือตัวแปรสำคัญที่คอยขับเคลื่อนให้เรื่องราวบนคาบสมุทรเกาหลีน่าติดตามอย่างชนิดที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

.
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์