เนื้อหาวันที่ : 2009-07-10 16:15:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2441 views

ปัญหาเขื่อนหัวนา - ราษีไศล บทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบนเส้นทางการต่อสู้ของคนจน

เป็นเวลาร่วม 1 เดือนเต็มที่ชาวบ้านนับพันคนจากกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ได้ยึดสันเขื่อนเป็นที่กินอยู่หลับนอน เพื่อทวงถามความจริงใจจากรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 16 ปี การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่?

.

นับเป็นเวลาร่วม 1 เดือนเต็มแล้ว ที่สันเขื่อนราษีไศล เขื่อนคอนกรีตขนาดยักษ์ซึ่งนอนพาดขวางลำน้ำมูนอันกว้างใหญ่แห่งแดนอีสาน ได้กลายสภาพมาเป็นที่กินอยู่หลับนอน ของชาวบ้านนับพันคนจากกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ซึ่งตัดสินใจเข้ายึดสันเขื่อนเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา

.

กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเดินทางมาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหลายอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน เร่งรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 16 ปีให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด ทั้งยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การชุมนุมในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างยืดเยื้อโดยไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่การชุมนุมผ่านพ้นไปได้เพียง 1 วันการเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหาระหว่างตัวแทนผู้เดือดร้อนจากกกลุ่มสมัชชาคนจน 7 กลุ่มปัญหากับฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มต้นขึ้น โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ซึ่งการเจรจาพูดคุยกันครั้งนี้จัดขึ้นยังห้องประชุมทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่ายของวันที่ 5 มิถุนายน 2552

.

จากการพูดคุยกันนานกว่า 1 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกล่าวคือในกรณีปัญหาเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล และปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ ของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน การดำเนินการนับจากนี้ให้มีการนัดประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2552 โดยทางฝ่ายรัฐบาลมอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนการประชุม

.

"พวกเราจะชุมนุมคอยติดตามการทำงานของกรมชลประทานและคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งมาจนกว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงจะกลับบ้าน" แม่ผา กองธรรม ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากกรณีปัญหาเขื่อนราษีไศล นักต่อสู้รุ่นบุกเบิก กล่าวย้ำจุดยืนในการชุมนุมครั้งนี้ชัดเจน พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า "เป็นเพราะที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่แนวทางการแก้ไขปัญหามีความชัดเจนหมดแล้ว แต่ที่ผ่านมากรมชลประทานทานพยายามแยกสลายมวลชน เล่นแง่ ถ่วงเวลามาตลอด"

.

เช่นเดียวกับสุข จันทร แกนนำชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่ยืนยันไม่ต่างกันว่า "การชุมนุมคราวนี้เป็นเพราะหลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข อยากให้ประชาชนเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพวกเรา เราไม่ได้มาสร้างความเดือดร้อนให้ใคร การชุมนุมก็เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองและจะรอจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข"

.

ส่วนในกรณีของเขื่อนหัวนานั้นหากจะว่าไปแล้ว ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาผลการแก้ไขปัญหาก็ดูเหมือนว่าจะไม่แตกต่างอะไรกันนักกับปัญหาเขื่อนราษีไศล โดยเฉพาะกลไกการแก้ไขภายใต้การควบดูแลของกรมชลประทาน ที่ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่เคยจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเขื่อนหัวนา"

.

"มติ ครม. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ชัดเจนว่าให้ยุติการดำเนินการใดๆ จนกว่าการศึกษาผลกระทบจะเสร็จสิ้น และให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แต่ผ่านมา 7 ปีแล้วก็ยังไม่เสร็จเพราะกรมชลประทานหน่วงเหนี่ยวเอาไว้" สำราญ สุรโคตร แกนนำผู้หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีเขื่อนหัวนา บอกเล่าถึงอุปสรรคที่เจอ ก่อนจะพูดถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ว่า

.

"สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ มีขบวนการล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อเสนอให้มีการล้มมติครม. วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ให้มีการปิดเขื่อน ทั้งที่ผลการศึกษาผลกระทบยังไม่เสร็จ การพิสูจน์สิทธิ์ก็ยังไม่เสร็จ ซึ่งพวกเราก็ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำโดยเร็ว"

.

สำหรับปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อนเจ้าปัญหาทั้งสองแห่งนั้น ในช่วงที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาได้ยึดตามมติ ครม.เมื่อปี 2543 โดยกรณีของเขื่อนราษีไศล ได้มีมติให้เปิดประตูน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระจายของดินเค็มและผลกระทบทางสังคม การพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินทำกินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนถึงการจ่ายค่าชดเชย แต่อย่างไรก็ตามนับจนถึงบัดนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังคงคาราคาซังตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

.

ขณะที่ปัญหาของเขื่อนหัวนา ครม.ก็ได้มีมติให้หยุดดำเนินการถมลำน้ำมูนเดิมไปก่อน ทั้งนี้ให้รอจนกว่าผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ นอกจากนั้นยังให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อน แต่ทว่าในประเด็นหลังนี้แม้ว่าวันเวลาล่วงเลยผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว แต่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาก็ยังคงไม่คืบหน้าและดูท่าว่าจะไร้ผล

.

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วม 1 เดือนเต็มของการชุมนุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการชุมนุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานและกลไกต่างๆ ที่ตั้งกันขึ้นมาแล้ว ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งภายในอำเภอราษีไศลและชุมชนที่อยู่รายล้อมเขื่อน ที่นอกจากจะเป็นการอธิบายถึงเหตุผลของการจัดชุมนุมแล้ว ยังเป็นการบอกเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในด้านของชีวิตชุมชนและสภาพแวดล้อม และถ้าหากนับเนื่องจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับตัวเองโดยไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานสักเท่าใด

.

"พวกเราจัดขบวนรณรงค์ขึ้นก็เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มีความเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนหัวนาซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่กำลังมีความพยายามจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากไม่ได้ศึกษาผลกระทบก่อนก็จะเกิดผลเสียกับชาวบ้านเหมือนกับเขื่อนราษีไศล ที่ตอนนี้พี่น้องเราหลายคนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมไร่นาเสียหาย ป่าก็หายไป ทุกคนเดือดร้อน" สำราญ หอกระโทก แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา บอกเล่าถึงเจตนาของการจัดขบวนรณรงค์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับเขื่อนเจ้าปัญหาทั้ง 2 แห่ง

.

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาของการชุมนุมที่ผ่านมา แม้ว่าตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อนจะมีการเจรจาพูดคุยเพื่อคลี่คลายปัญหาผ่านกลไกการแก้ปัญหาในระดับต่างๆ กันไปบ้างแล้ว แต่นั่นก็ดูเหมือนจะเป็นพิธีกรรมที่เริ่มจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เสียแล้วในสายตาของชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีมติร่วมกันในการที่จะปักหลักต่อสู้ ด้วยการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านคนจนขึ้นมาเป็นฐานที่มั่น

.

อีกทั้งยังย้ำจุดยืนชัดเจนว่า หากปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ถูกคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น พวกเขาทั้งหมดจะปักหลักชุมนุมกันอยู่ที่นี่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดร่วมกัน พร้อมกันนั้นยังมีการตระเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อเป็นเสบียงและเป็นหลักประกันในการต่อสู้ที่อาจยาวนานกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา

.

ถึงวันนี้ แม้ว่าระยะเวลาจะล่วงเลยมาถึง 1 เดือนเต็มแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถที่จะให้คำตอบได้ว่า การลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา – เขื่อนราษีไศล ในเวลานี้จะมีบทสรุปเป็นเช่นใด จะยุติลงเมื่อไหร่ จะมีครั้งต่อไปหรือไม่ และถึงแม้ผลการเจรจาที่เกิดขึ้นจะทำให้หลายคนมีความหวังลึกๆ ในใจว่าปัญหาของตนคงจะถูกคลี่คลายไปไม่มากก็น้อย

.

แต่ทว่าบทเรียนการต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า "อำนาจรัฐ" ผ่านกลไกในรูปแบบต่างๆ เป็นเวลายาวนานกว่า 16 ปีของพวกเขา ก็คงจะเป็นบทสรุปที่แจ่มชัดแล้วว่า ที่ผ่านมานั้น "อำนาจรัฐไม่เคยคิดจะกลับใจและพร้อมจะบิดเบือนกลบเกลื่อนเพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้ทุกครั้งที่มีโอกาส"

.

ในขณะเดียวกันการลุกขึ้นมาต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ก็ถือเป็นเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งว่า ที่ผ่านมา "คนจนไม่เคยยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ และพร้อมจะต่อสู้ทุกครั้งที่อำนาจรัฐหยิบยื่นความไม่เป็นธรรมมาให้" ซึ่งความทรหดอดทนในการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานร่วมสิบกว่าปี ผ่านมาแล้ว 10 รัฐบาล จวบจนกระทั่งถึงวันนี้ ก็คงจะเป็นสิ่งที่ยืนยันและบทพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนที่สุด

.

อนึ่งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 "สมัชชาคนจน" เขื่อนราษีไศล – เขื่อนหัวนา จัดงาน "ปฏิบัติการสิทธิชุมชนคนป่าทาม" ขึ้น ณ หัวงานเขื่อนราษีไศล

.

ทั้งนี้ชาวบ้าน "สมัชชาคนจน" เขื่อนราษีไศล – เขื่อนหัวนา 2,500 คน จากจังหวัดศรีสะเกษ, สุรินทร์, ร้อยเอ็ด,ชุมนุมอยู่ที่หัวงานเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ มาตั้งตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2552 นับได้เดือนกว่าแล้ว เพื่อเรียกร้องให้กรมชลประทานและรัฐบาลแก้ปัญหาผลกระทบซึ่งยืดเยื้อมา 16 ปีแล้ว

.

เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาเป็น 2 เขื่อนใหญ่สุด ในโครงการ โขง ชี มูล ปิดกั้นลำน้ำมูลที่จังหวัดศรีสะเกษ เกิดน้ำท่วมพื้นที่ทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ ที่เป็นที่ทำกินและแหล่งเศรษฐกิจชุมชนมาหลายร้อยปี แม้การศึกษาผลกระทบ (ภายหลังการสร้าง) จะระบุว่า ไม่มีความคุ้มค่าใดๆ แต่โครงการก็จะดำเนินการต่อไป เหมือนโครงการรัฐที่ไร้ธรรมาภิบาลอื่นๆ

.

เฉพาะเขื่อนราษีไศลใช้พื้นที่ทามดินดีที่สุดในภาคอีสาน 93,000 ไร่ เพื่อทำอ่างเก็บน้ำ สูบน้ำไปให้นาดินทรายในที่สูง ทำนาปรัง 34,400 ไร่ เขื่อนหัวนาใช้พื้นที่ทาม 67,654 ไร่ ทำอ่างเก็บน้ำ ท่วมแหล่งดินปั้นหม้อ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ทำนาทามและแหล่งประมงสำคัญ เพื่อเอาน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 77,300 ไร่ ซึ่งไม่มีความแน่นอนว่าจะได้พื้นที่จริงกี่เปอร์เซ็นต์

.

ชาวชุมชนราษีไศล - หัวนา ประมาณ 250 หมู่บ้าน ถูกละเมิดสิทธิ์ในที่ดินทำกิน สิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดิน, น้ำ, ป่า เพื่อการดำรงชีพ ชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องมาเป็นเวลานาน แต่กระบวนการแก้ปัญหาไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเป็น ขณะที่โครงการจัดการน้ำในลักษณะเดียวกันกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นบทเรียนต่อสังคมโดยรวม เราใคร่ขอเชิญพี่น้องเพื่อนมิตรทุกท่าน ทุกองค์กร ร่วมงาน "ปฏิบัติการสิทธิชุมชนคนป่าทาม" ในครั้งนี้ตามกำหนดการ

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท