เนื้อหาวันที่ : 2006-11-07 09:50:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 867 views

กพช. แยกอำนาจรัฐ กรณีท่อก๊าซ ปตท. ไปให้ คก.ใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.ทุนฯ ดูแล

คณะกรรมการกำกับนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้แยกอำนาจรัฐที่ดูแลกรณี ปตท. ไปให้กระทรวงการคลังดูแลชั่วคราว ก่อนมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการ

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว คณะกรรมการกำกับนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้แยกอำนาจรัฐที่ดูแลกรณี ปตท. ทั้งอำนาจการประกาศเขต อำนาจการรอนสิทธิ์เหนือพื้นดินของเอกชน และอำนาจในการเวนคืนที่ดิน ไปให้กระทรวงการคลังดูแลชั่วคราว ก่อนมีจะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการ ด้าน ปตท.ระบุเห็นด้วย และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด

 .

นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วันนี้ (6 พ.ย.) ได้เห็นชอบแนวทางกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยมีมติอนุมัติให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน  โดยกำหนดให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในระหว่างที่มีการยกร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้การกำกับดูแลดำเนินอย่างต่อเนื่อง

 .

ภายหลังการลาออกของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Regulator) 7 คน ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2548 พร้อมกับให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการใหม่เข้ามาทดแทนภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อทำหน้าที่แทนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการจำนวน 4 คณะ 1. คณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ (เอฟที) 2. คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า 3. คณะอนุกรรมการพิจารณาระเบียบการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และ 4. คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

 .

นอกจากนี้ ได้อนุมัติในหลักการปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรับโอนอำนาจรัฐที่อยู่กับ ปตท. มาไว้ที่องค์กรนี้ ประกอบด้วย อำนาจการประกาศเขต อำนาจการรอนสิทธิ์เหนือพื้นดินของเอกชน และอำนาจในการเวนคืนที่ดิน โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการต่อไป

 .

ทั้งนี้ การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฯ ของ ปตท. มุ่งหวังเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ และควบคุมการใช้อำนาจทางกฎหมายให้เป็นไปโดยถูกต้อง โดยเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ  ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติจะสิ้นสุดลง เมื่อมีการตรากฎหมายตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... แล้วเสร็จ ซึ่งจะถูกโอนมาให้คณะกรรมการกำกับดูแลที่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน

 .

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวและการแยกอำนาจรัฐออกมาดังกล่าวไม่กระทบต่อแผนงานของ ปตท.แต่อย่างใด โดยปัจจุบันนี้ ในเรื่องอำนาจการประกาศเขตแนวท่อ ก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่วนการเวนคืน การรอนสิทธิ์ก็อยู่ภายใต้กฎหมายเวนคืนที่ดิน อย่างไรก็ตาม การรอนสิทธิ์ ท่อก๊าซฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ปตท.ก็ไม่เคยใช้อำนาจทางกฎหมายไปบีบบังคับประชาชน แต่เกิดจากหารือและตกลงกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการแยกการดูแลก็ทำให้ทุกคนมีความสบายใจ เกิดความชัดเจนว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐโดยชอบ

 .

การโอนอำนาจดูแลเรื่องอำนาจรัฐ ที่ดูแล ปตท.ไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ทุน ตามมาตรา 26 ก็เพื่อสร้างความชัดเจน เพราะต้องมีผู้ดูแล ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ส่วนการจะแยกบริษัทท่อก๊าซธรรมชาติออกมาหรือไม่ ก็แล้วแต่นโยบายรัฐบาล ซึ่งที่ประชุม กพช.วันนี้ยังไม่ได้มีการหารือ นายประเสริฐ กล่าว

 .

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน จะมีการยกร่างฯ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าจะประกาศใช้ได้รวดเร็ว ซึ่งการมีกฎหมายออกมาก็จะเป็นสิ่งที่ดูแลกิจการพลังงานที่ดี และหากใครเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้  โดยกรณีที่ ปตท.เป็นบริษัทในตลาดฯ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่จะมีการแยกอำนาจรัฐออกมา

 .

น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงการฟ้องร้องศาลปกครอง กรณี ปตท.ว่า ในขณะนี้เมื่อ ปตท.ส่งข้อมูลชี้แจงต่อศาลฯ แล้ว ทางศาลฯ จะส่งเอกสารดังกล่าวให้ผู้ฟ้องเพื่อโต้ข้อขัดแย้ง โดยจะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน  ซึ่งหากศาลฯ ตัดสินไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ไม่ว่า สหพันธ์ฯ จะแพ้หรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อเกิดการฟ้องร้อง กระบวนการที่ถูกต้องได้เกิดขึ้น คือ มีการแยกอำนาจรัฐออกมาจาก บมจ.ปตท. ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยกรณีที่ กพช.โอนอำนาจรัฐมาให้คณะทำงานชุดใหม่ดูแล ทางสหพันธ์ฯ ก็จะขอดูในรายละเอียดว่ามีกฎหมายรองรับชัดเจนหรือไม่.