ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 5 ปีที่การส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงตลอดทั้งปี เจอคู่แข่งรอบด้าน หวั่นเวียดนามแย่งตลาดส่วนใหญ่ไปครอง
. |
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ในปีนี้นับเป็นปีแรกในรอบ 5 ปีที่การส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงตลอดทั้งปี ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงกับประเทศเวียดนามในช่วงครึ่งปีแรก พ่วงท้ายด้วยการแข่งขันกับอินเดียในช่วงครึ่งปีหลัง จึงทำให้ครึ่งปีหลังนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 53 กลยุทธ์ด้านราคาส่งออกข้าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก |
. |
ปีที่ผ่านมาการแข่งขันจากคู่แข่งขันสำคัญ คือ เวียดนาม มีความรุนแรงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปีเท่านั้น แต่ปีนี้เวียดนามเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยทุ่มการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรก และเมื่อปริมาณการส่งออกข้าวเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วงครึ่งปีแรก ในไตรมาส 2 เวียดนามระงับการทำสัญญาส่งออก หลังจากนั้นจึงเริ่มมาทำสัญญาส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี 52 |
. |
กอปรกับการคาดหมายว่าปริมาณการผลิตข้าวของเวียดนามสูงกว่าที่คาด ทำให้ภาคเอกชนผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามเพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 20% ของเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงต้นปี เมื่อผนวกกับราคาส่งออกข้าวที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญอย่างไทย และสหรัฐฯ ทำให้เวียดนามสามารถเบียดแย่งตลาดข้าวส่วนใหญ่ไปได้ |
. |
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังปี 52 นี้ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันกับอินเดียที่คาดว่าจะกลับเข้ามาเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอีกครั้ง หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียจำกัดการส่งออกข้าวโดยเฉพาะข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติ เนื่องจากปริมาณสต็อกข้าวในประเทศเพียงพอกับการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจากมรสุมนั้นเพียงพอกับการปลูกข้าว ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวของอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการกลับเข้าตลาดของอินเดียยิ่งจะทำให้การแข่งขันข้าวในตลาดโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น |
. |
"ในช่วงที่เหลือของปี 52 ต่อเนื่องถึงปี 53 ผู้ส่งออกข้าวของไทยคงจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยราคาส่งออกข้าวจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก" เอกสารเผยแพร่ ระบุ |
. |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคาข้าวของไทยนอกจากปริมาณการผลิตแล้ว นโยบายรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะราคาในการแทรกแซงตลาดข้าวไม่ว่าจะด้วยวิธีการจำนำหรือประกันราคาข้าวก็ตาม เนื่องจากเป็นการกำหนดเกณฑ์ราคาข้าวของไทย รวมทั้งนโยบายการระบายสต็อกข้าว ซึ่งส่งผลทำให้ราคาข้าวของไทยผันผวนได้ในระยะต่อไป |
. |
อนึ่ง ช่วงครึ่งปีแรกนี้ไทยส่งออกข้าวลดลงมากเป็นประวัติการณ์ทั้งด้านปริมาณและมูลค่า โดยในแง่ปริมาณส่งออกได้ 4.21 ล้านตัน ลดลง 29.7% คิดเป็นมูลค่า 2.33 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 23.7% เนื่องจากต้องเผชิญกับแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนาม โดยปีนี้ราคาข้าวของเวียดนามต่ำกว่าไทยถึง 100-200 ดอลลาร์/ตัน ทำให้เวียดนามสามารถเบียดแย่งตลาดข้าวของไทยไปได้อย่างมาก |
. |
ทั้งนี้ วงการค้าข้าวคาดการณ์การส่งออกข้าวของไทยทั้งปี 52 จะลดลงทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่า โดยปริมาณลดลงจากปีก่อน 16.8% มาอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน ขณะที่มูลค่าลดลง 25% มาอยู่ที่ 4,650 ล้านดอลลาร์ |