เนื้อหาวันที่ : 2006-11-06 21:41:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4989 views

สวทช. พัฒนา‘เตาอบไม้’เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สนาม

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ช่วยประหยัดเวลาและลดการใช้พลังงานได้ถึง 20%

.

นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP  ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย จัดเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกในอันดับต้นๆ  และเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท  อีกทั้งมีการจ้างงาน  และมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 300,000 คน  ทำให้ตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีขนาดใหญ่ ในจำนวนยอดเฟอร์นิเจอร์ที่ส่งออกทั้งหมดเป็นเฟอร์นิเจอร์จากไม้กว่า 60%  แต่เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยยังประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของไม้ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลจากการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการผลิต โดยเฉพาะ เตาอบซึ่งถือเป็นจุดสำคัญยิ่งสำหรับการส่งออกไม้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์  เพราะไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ ยังมีคู่แข่งสำคัญอย่าง จีน และเวียดนาม ที่กำลังมาแรงมาก ทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ฉะนั้น ทางเลือกของผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวให้แข่งขันได้

.

.

นายจิรวัฒน์  ตั้งกิจงามวงศ์  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้สนามส่งออก  กล่าวว่า    ปัญหาของไม้ที่ใช้กันอยู่เกิดจากความชื้น และโรงงานผลิตไม้หลายแห่งที่มีปัญหาก็เพราะไม่มีเตาอบ ด้วยความไม่รู้และไม่มีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม้เพื่อการส่งออก เนื่องจากการส่งออกแต่ละประเทศยังมีการกำหนดค่าความชื้นที่ต่างกัน เตาอบจึงถือเป็นจุดสำคัญของคำว่าคุณภาพ แต่เมื่อหันมาส่งออกจึงต้องนำไม้ไปจ้างโรงอบข้างนอกซึ่งก็ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องเทคนิคการอบที่ได้มาตรฐาน ทั้งระยะเวลา  ความชื้น  และเทคนิคการอบให้ไม้แห้งที่ถูกต้อง เน้นแต่ปริมาณในการอบครั้งละมากๆ เท่านั้น ทำให้ความชื้นในเนื้อไม้ยังแห้งไม่ได้ที่ กลายเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยที่ไม่มีเตาอบเป็นของตัวเองอยู่ในขณะนี้

a.
ในส่วนของบริษัทฯนั้น ถือว่าได้เปรียบกว่ารายอื่นเพราะมีเตาอบใช้เองถึง 6 เตา แต่เนื่องจากใช้มานานกว่า 30 ปี จึงต้องการพัฒนาเตาอบให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น  และที่ผ่านมายังไม่ได้มีการใช้งานเต็มที่ เนื่องจากช่างเทคนิคที่ชำนาญงานเองก็ยังเข้าไม่ถึงเทคนิคบางอย่าง  ทางบริษัทฯ จึงได้เข้ารับการสนับสนุนทางด้านผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  โดยทางโครงการ iTAP ได้จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยได้แนะนำวิธีการพัฒนาเทคนิคในการอบไม้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีประสิทธิภาพ สามารถลดระยะเวลาในการอบไม้ และประหยัดพลังงานได้ถึง 20%พร้อมกับช่วยลดของเสียและตำหนิที่เกิดจากการอบไม้
a.
สำหรับประโยชน์ที่บริษัทได้รับ นอกจากช่วยลดเวลาในการอบไม้ให้เร็วขึ้นจากปกติ 15 วัน เหลือ 12 – 13 วัน  ซึ่งตรงนี้ นาย จิรวัฒน์ บอกว่า   เวลาที่ลดลงดูเหมือนไม่มาก แต่เป็นที่พอใจสำหรับบริษัทฯ  เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับการอบไม้ตามที่บริษัทต้องการ แม้จะสามารถลดระยะเวลาลงได้มากกว่านั้นก็ตาม และเพราะบริษัทฯ มีเตาอบถึง 6 เตา  สามารถอบไม้ได้ครั้งละ 60 คิวบิกเมตร / เตา  ทำให้บริษัทสามารถประหยัดเวลาในการอบไม้ได้ถึง 6 วัน/เดือน หรือ คิดเป็น 72 วัน / เตา / ปี  หากรวมกันทั้งหมด 6 เตา จะทำให้บริษัทสามารถประหยัดเวลาเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลถึง 1 ปีกว่า หรือเท่ากับบริษัทได้เตาอบเพิ่มขึ้นอีก 1 เตา  โดยไม่ต้องลงทุนสร้างเตาเพิ่ม  ถือว่าคุ้มค่ามากๆ  ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถอบไม้ได้เร็วขึ้น ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 20 %  และยังเป็นการประหยัดพลังงานลงได้กว่า 20%  หรือ คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการอบไม้ลดลงได้ถึงปีละ 2 แสนกว่าบาท
.

.

นายจิรวัฒน์ กล่าวเสริมว่า  หลังการพัฒนาประสิทธิภาพเตาอบเดิมที่มีอยู่ ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้เตาอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณค่า เพราะทำงานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์   เป็นการพัฒนาทางด้านเทคนิค วิชาการ ข้อมูล และการทำงานที่ให้มีความทันสมัยขึ้น   ลดของเสียจากการอบไม้ลดลง ทำให้มีวัตถุดิบที่นำมาใช้งานเพิ่มขึ้น  ส่งผลให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการรับออร์เดอร์เพิ่มขึ้น  สอดรับกับความต้องการของบริษัทที่จะขยายตลาดเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดโครงการไปสู่การพัฒนาโรงเลื่อย  เชื่อว่า จะมีโอกาสร่วมมือกับทางโครงการ iTAP (สวทช.)  สำหรับโครงการอื่น ๆ ต่อไป

a.

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000   หรือ   www.nstda.or.th/itap