เนื้อหาวันที่ : 2009-07-08 09:53:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1233 views

กรณ์ เผยผลประชุม "แผนไทยเข้มแข็ง" กับเวิลด์แบงก์

กรณ์ มั่นใจได้ธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษา "แผนไทยเข้มแข็ง" ประสบความสำเร็จแน่ เชื่อวางแผนรอบคอบทุกนโยบาย เผยเวิลด์แบงค์หนุนประกันราคาพืชผลทางการเกษตรแทนรับจำนำ เน้นบริหารความเสี่ยง

นายกรณ์ จาติกวณิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

.

นายกรณ์ จาติกวณิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  กระทรวงการคลังและธนาคารโลกได้ร่วมกันจัดการประชุมระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับธนาคารโลก ในวันที่ 3-4 กรกฏาคม 2552 ณ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหาแนวทางความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งต่อไป

.
ประเด็นหารือในการประชุมประกอบด้วย 4 หัวข้อ ได้แก่ 

กลุ่ม 1 : ด้านการระดมทุนสำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 (SP2) หรือ "แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง" รวมถึงการติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลงานในโครงการ 

.

1.1  ที่ประชุมได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหา/อุสรรคของการจัดซื้อจัดจ้าง ภายใต้ SP2 ซึ่งธนาคารโลกจะให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในการกำหนดแนวทางเพื่อเร่งรัดให้มีการดำเนินโครงการได้โดยเร็ว 

.

1.2  กำหนดดัชนีชี้วัดที่จะนำมาใช้ประเมินโครงการนำร่องภายใต้ SP2 ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะกำหนดดัชนีด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารโลกให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2553 

.

1.3 ผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกจะให้ข้อแนะนำในระบบการกำกับดูแลภายใต้ SP2 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเร่งรัดการดำเนินโครงการโดยเร็วต่อไป 

.
1.4 แนวทางการระดมทุนโครงการSP2 
.

1.4.1 การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เห็นควรเร่งรัดให้มีระเบียบแนวทาง ที่จะลดข้อจำกัดของการให้เอกชนเข้าร่วมงาน และกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแลและขับเคลื่อนด้านการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Unit) ซึ่งธนาคารโลกจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ

.

บุคลากรของหน่วยงานดังกล่าว รวมทั้งศึกษาและกำหนดการดำเนินการเครื่องมือทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงและภาระผูกพันโครงการนำร่องให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ PPP ต่อไป   

.

1.4.2 ธนาคารโลกนำเสนอกองทุนที่เรียกว่า Clean Technology Fund หรือ CTF เป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน  สำหรับโครงการที่ลงทุนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจัดทำแผนการลงทุน 

.

1.4.3 แนวคิดกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ในกระบวนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งธนาคารโลกและ International Finance Corporation (IFCX จะนำความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศมาช่วยเหลือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในการออกแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม   

.

กลุ่ม 2 : การเข้าถึงและการบริหารความเสี่ยงทางการคลังและโครงการอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับการให้ความสนับสนุนด้านพืชผลทางการเกษตร 

2.1..ที่ประชุมได้หารือกรอบความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงทางการคลังทั้งในส่วนของความเสี่ยงในภาพรวมและความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายด้านการเกษตรของภาครัฐ โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ 

.

2.1.1 .การเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนเกษตรกร โดยผ่านนโยบายการพัฒนาชนบททั้งในส่วนของปัจจัยพื้นฐานการผลิต การจดทะเบียนเกษตรกร และการยกระดับรายได้ของเกษตรกรที่ใช้กลไกอื่นแทนการรับจำนำสินค้าทางการเกษตรซึ่งก่อให้เกิดภาระทางการคลัง รวมถึงการพัฒนากลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้เป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน 

.

2.1.2 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาล โดยการพัฒนากลไกประเมินความเสี่ยงทางการคลังอย่างครบวงจร การพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทางการคลังจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการพัฒนากรอบในการติดตามและประเมินภาระเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากโครงการ PPP รวมถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาแบบจำลองเพื่อใช้ในการบริหารหนี้สาธารณะ 

.
กลุ่ม 3 : การประกันพืชผลทางการเกษตร และการบริหารความเสี่ยงของพืชผลทางการเกษตร 

3.1 ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นที่สำคัญในระยะสั้น คือ แนวทางในการขยายการใช้ดัชนีภูมิอากาศในการประกันพืชผลทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) การขยายโครงการดัชนีความแห้งแล้งในข้าวโพด ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก  2) การศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายการประกันพืชแบบดัชนีสำหรับข้าว  ซึ่งธนาคารโลกอาจจะเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ทางวิชาการในด้านการเสนอแนะและถ่ายทอดความรู้สำหรับการออกแบบสัญญาการประกันพืชผลทางการเกษตร 

.

3.2 ประเด็นที่สำคัญในระยะปานกลาง คือ การพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาการประกันพืชผลทางการเกษตรในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่  1) เพื่อหารูปแบบการประกันภัย ทั้งผลิตภัณฑ์แบบดัชนีและที่ไม่ใช่ดัชนี 2) เพื่อกำหนดความเสี่ยงที่ไม่สามารถอยู่ในระบบการประกันพืชผลได้     

.

3) เพื่อกำหนดทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่จำเป็น 4) เพื่อกำหนดกรอบแผนงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน 5) เพื่อวิเคราะห์บทบาทของการประกันภัยและความเชื่อมโยงกับระบบการชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 6) เพื่อทบทวนกรอบแผนงานด้านการกำกับดูแลเชิงกฎหมายต่างๆ 

.

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรึกษาเรื่องขอรับการสนับสนุนจากธนาคารโลกต่อไป 

.
กลุ่ม 4 : การเพิ่มความเข้มแข็งในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 

4.1 ที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อทบทวนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้คำนึงปรัชญาของการจัดตั้งที่มุ่งหมายเพื่อเติมเต็มช่องว่างสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และเพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐอย่างโปร่งใส 

.

ที่ประชุมจึงมีมติให้เร่งการนำแนวทางบัญชีธุรกรรมการดำเนินการตามนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) มาปฏิบัติ และมีความเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถปล่อยสินเชื่อ โดยภาครัฐสามารถประมาณการภาระได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสินเชื่อและด้านปฏิบัติการ 

.

ทั้งนี้ มีแผนงานที่สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานกำกับและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คือ การจัดตั้งชมรมบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในลักษณะที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการอยู่เพื่อให้มีเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจและ ข้อมูลระหว่างกัน           

.

ในส่วนของความร่วมมือระหว่าง สศค. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น จะมีการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อโดยหน่วยงานกำกับทั้ง 3 ได้แก่ สศค ธปท และสคร. จะจัดอบรมให้ความรู้ระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป 

.

4.2 ทั้งนี้ ธนาคารโลกรับจะไปพิจารณาความช่วยเหลือทางวิชาการในด้านต่างๆ ดังนี้ การสร้างเครื่องมือในการวิเคราะห์สินเชื่อและการนำเครื่องมือไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการติดตามหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรายย่อย การพัฒนาเครื่องมือและติดตามพฤติกรรมของลูกค้า และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน 

.

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลก หรือที่เรียกว่า Country Partnership Strategy ระยะ 2 ปี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 - มิถุนายน 2554 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อ 

.

เป็นกรอบการดำเนินงานของธนาคารโลกในประเทศไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของแผนไทยเข้มแข็ง