สมัชชาคนจน เฮ! คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ รับรองผลดำเนินงานตรวจสอบรังวัด รว.43 และตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรในกลุ่มสมัชชาคนจน หลังบุกยึดสันเขื่อนราษีไศล ตั้งหมู่บ้านคนจนนานนับเดือน
สำนักข่าวเสียงคนอีสาน รายงาน |
. |
. |
30 มิถุนายน 2552 ณ สันเขื่อนราษีไศล สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนหัวนา ประชุมคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา อำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ผลการประชุม คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ได้รับรองผลดำเนินงานตรวจสอบรังวัด รว.43 ก.และตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของราษฎรในกลุ่มสมัชชาคนจน เขตอำเภอราษีไศล จำนวน 2,142 แปลง 621 ราย หลังรอมานานนับ 3 ปี |
. |
หลังบุกยึดสันเขื่อนราษีไศล ตั้งหมู่บ้านคนจนนานนับเดือน เพื่อกดดันให้กรมชลประทานเข้ามาแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อมานับสิบปี วานนี้กลุ่มสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนา ได้ทำประชุมคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนา เขตอำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยมี นายวีรศักดิ์ สุกรินท์ ปลัดอำเภอราษีไศล เป็นประธาน |
. |
ร่วมด้วยตัวแทนจาก พนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาราษีไศล ตัวแทนจากเกษตรอำเภอราษีไศล ตัวแทนจากกรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และตัวแทนราษฎรของกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนหัวนาจำนวน 5 คน ร่วมประชุมเพื่อรับรองผลการทำงานตรวจสอบการรังวัด รว.43 ก.และตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของราษฎร |
. |
ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาในเขต 3 อำเภอ คือ อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา การตรวจสอบรังวัดครั้งนี้ใช้เวลานานนับ 10 กว่าปี เพราะความติดขัดและไม่ต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาของส่วนราชการผู้รับผิดชอบโครงการ นับตั้งแต่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จนมาถึงกรมชลประทานในปัจจุบัน |
. |
ผลการประชุมเมื่อวานนี้ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทั้งเขื่อนหัวนาและราษีไศล ประมาณ 1,000 คน ได้นั่งล้อมห้องประชุมของโครงการส่งน้ำและบำรุงซ่อมแซมส่วนมูลล่าง เพื่อกดดันให้คณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินฯ และให้กำลังใจแก่ตัวแทนกรรมการฝ่ายราษฎร ได้มีมติรับรองผลการทำงานตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรในครั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานนับ 2 ชั่วโมง จึงมีมติรับรองผลการทำงานตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรดังกล่าว ผลการประชุมเป็นที่พอใจของชาวบ้านที่นั่งรออยู่ด้านนอกพอสมควร |
. |
นายบุญเกิด กตะศิลา อายุ 59 ปี บ.โนนเวียงคำ ต.เมืองคง อ.ราษีไศล มีที่ดินในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาจำนวน 80 ไร่ กล่าวว่า พอใจกับมติที่ประชุมของคณะทำงานในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเป็นเพียงการรับรองผลการทำงานเพียงเขตอำเภอราษีไศลแห่งเดียว แต่ยังเหลืออีก 2 อำเภอคือ อำเภอกันทรารมย์และอำเภออุทุมพิสัย ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร |
. |
อยากให้การรับรองการทำงานครั้งนี้ลุล่วงทั้ง 3 อำเภอ ถึงจะกล้าบอกว่าพอใจได้ระดับหนึ่ง และการต่อสู้ของชาวบ้านครั้งนี้คงยังไม่จบสิ้นง่ายๆ เพราะความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนหัวนานั้นคงหนักกว่าเขื่อนราษีไศล เพราะเขื่อนมีขนาดใหญ่กว่าถึง 2 เท่า |
. |
ส่วน นายสังวาลย์ ชุมจันทร์ อายุ 69 ปี บ.โง้ง ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล มีที่ดินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา 10 ไร่ กล่าวว่า พอใจกับมติการรับรองครั้งนี้พอสมควร เพราะชาวบ้านรอผลให้มีการรับรองผลการทำงานมานานหลายปีแล้ว และคิดว่าเป็นผลจากการชุมนุมของชาวบ้านที่ต้องทนลำบากชุมนุมต่อเนื่องนับเดือนในครั้งนี้ |
. |
แม้จะต้องเผชิญปัญหาทางธรรมชาติ ปัญหาการผลิตและความล่าช้าของกรมชลประทานในการแก้ไขปัญหาก็ตาม แม้จะพอใจระดับหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่า การแก้ไขปัญหาคงยังไม่แล้วเสร็จ เพราะความกังวลใจของชาวบ้านคือ การพยายามจะปิดเขื่อนหัวนาของกรมชลประทาน ก่อนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าสูญเสียที่ดินจากการสร้างเขื่อนหัวนาในครั้งนี้ |
. |
เขื่อนหัวนา เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการโขงชีมูล ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 2,000 กว่าล้านบาท แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะชาวบ้านในพื้นที่เกิดความกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบนั้น เป็นพื้นที่ทามต่อเนื่องกับพื้นที่ทามที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล |
. |
ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันและเข้าร่วมการต่อสู้กับกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนหัวนามาตั้งแต่ปี 2540 จนมีมติครม.วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ให้ชะลอการถมลำน้ำมูลเดิมไว้ก่อน ให้เปิดเผยข้อมูลของโครงการทั้งหมดต่อสาธารณะ ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการกักเก็บน้ำของเขื่อน และให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมให้แล้วเสร็จ ก่อนการตัดสินใจดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเขื่อนหัวนา |
. |
ปัจจุบันความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนหัวนานี้ การตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่ ที่ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบพื้นที่แล้วเสร็จแล้วใน 2 อำเภอ คือ อำเภอราษีไศลและอำเภอกันทรารมย์ เหลือเพียงอำเภออุทุมพรพิสัยที่ยังมีปัญหาระดับพื้นที่ ทำให้การทำงานไม่มีความคืบหน้า |
. |
ส่วนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม โดย 3 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นั้นอยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะมีแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |