เนื้อหาวันที่ : 2009-06-30 16:05:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1893 views

ธปท.ระบุตัวเลข ศก.ต้น Q2/52 ส่อเค้าฟื้นทั้งอุปสงค์ - อุปทาน

ธปท. รับยังตอบไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดหรือยัง แต่ไตรมาส 2/52 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น เชื่อไม่ตกต่ำกว่านี้ ห่วงการฟื้นต้วของเศรษฐกิจโลก การเมืองและไข้หวัด 2009 ส่งผลกระทบ ส่วนภาคเกษตร - ท่องเที่ยว ยังดิ่งเหว

.

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/52 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากไตรมาสแรกของปีทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน แม้จะยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง    

.

แต่โอกาสที่จะตกต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมามีน้อยลงแล้ว ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

.

"สัญญาณเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสสอง โดยรวมขยายตัวดีจากไตรมาส 1 ซึ่งเมื่อรวมนโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนและอุปสงค์ต่างประเทศจากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามา น่าจะทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำกว่านี้มีน้อยลง...แต่ขณะนี้ไม่มีใครฟันธงได้ว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดหรือยัง" นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ กล่าว 

.

ธปท.ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือน พ.ค.โดยรวมค่อนข้างทรงตัวจากเดือน เม.ย.และหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในอัตราที่ใกล้เคียงกันทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและการนำเข้า อย่างไรก็ดี ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญในภาคเกษตรหดตัวมากขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย   

.

ด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง ส่วนการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

.

นางอมรา กล่าวว่า ตัวเลขในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 ทั้งอุปสงค์และอุปทานดีกว่าไตรมาส 1/52 แม้จะทรงๆ ตัว แต่โอกาสตกต่ำกว่าที่ผ่านมามีน้อยลง โดยข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับฤดูกาลแล้วเริ่มทรงตัวจาก เม.ย.แต่หากดูในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/52 ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาส 1/52 

.

ประกอบกับมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งความต้องการสินค้าทั้งในและนอกประเทศเร่งตัวขึ้นสะท้อนให้เห็นจากคำสั่งซื้อสินค้าช่วง 3 เดือนข้างหน้าที่เร่งตัวขึ้น ดังนั้นโอกาสที่ภาพเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำกว่านี้ก็มีน้อยลงด้วย 

.

"ถึงจะยังบอกได้ยังไม่ชัดเจนว่าถึงจุดต่ำสุดหรือยัง แต่ถ้าดู 2 เดือนแรกไตรมาส 2 ดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนในตะกร้าจีดีพี 40% ตัวเลขปรับตัวขึ้นขยายตัวดีกว่าไตรมาสแรก แม้ว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนตัวเลขจะติดลบ แต่ก็ลดลงจากไตรมาสแรก" นางอมรา กล่าว 

.

ขณะเดียวกันอุปสงค์เร่งตัวขึ้น เพราะการส่งออกสุทธิยังดีกว่าการนำเข้า ขณะที่การบริโภคหากไม่มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นมากดดัน ก็มองว่าทั้งไตรมาส 2/52 น่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสแรกที่ทรงๆ ตัว แต่การลงทุนภาคเอกชนคงไม่เห็นในระยะใกล้ เพราะการใช้กำลังการผลิตยังต่ำ แต่แนวโน้มไตรมาส 2/52 หากการกระตุ้นจากภาครัฐที่ตอนนี้กู้เงินได้แล้วและถ้าเริ่มลงทุนได้ก็จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเอกชน        

.

ธปท.ยังพบว่าจากการสำรวจภาคเอกชนในเดือน พ.ค.มีการจ้างงานล่วงเวลาต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 56% เทียบกับ เม.ย.ที่ 53% สอดคล้องกับการผลิตที่เร่งตัวขึ้น นอกจากนั้น นางอมรา ยังเปิดเผยว่า 5 เดือนแรกปี 52 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.