เนื้อหาวันที่ : 2009-06-30 12:18:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1166 views

คลอด4มาตรการตัดสินรถเอ็นจีวี

สศช. ชู 4 ข้อเสนอส่ง ครม. พิจารณา เผยไม่ต้องการก้าวก่ายการตัดสินใจของครม. โสภณ ยันแนวทางจัดหารถเมล์เอ็นจีวีเช่าดีที่สุด ขสมก. ย้ำจำเป็นต้องมีรถเมล์เอ็นจีวีใหม่มาช่วยแก้ไขฐานะการเงิน

.

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสศช.นัดพิเศษ ได้พิจารณารายละเอียดข้อมูลของโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันตามที่สศช.วิเคราะห์หลังได้รับข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม และจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

.

โดยจะมี 4 ข้อเสนอ ส่งให้ที่ประชุมครม.พิจารณา วันที่ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งคณะกรรมการสศช.ไม่ต้องการก้าวก่ายการตัดสินใจของครม.จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดได้ และถือว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและครบถ้วนตามมติครม. ก่อนครบวาระในวันที่ 3 ก.ค.นี้ 

.

ทั้งนี้คณะกรรมการได้พิจารณาจากข้อมูลที่สศช.วิเคราะห์จากมติครม.เมื่อเดือนม.ค. 51 ที่ให้คำนึงใน 4 ด้าน คือระบบการขนส่งมวลชนทั้งระบบ การลงทุนแล้วทำให้องค์กรอยู่รอดไม่เป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต การปรับปรุงคุณภาพการบริการที่นำไปสู่ความปลอดภัย และความต้องการของผู้โดยสารเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาจากจำนวนรถอีกแต่อย่างใด 

.

"จากการรวบรวมข้อมูลของทั้งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรับฟังข้อมูลจากประชาชนพบว่า เส้นทางทั้ง 145 เส้นทางยังไม่ชัดเจน เพราะต้องมองจากความต้องการของผู้โดยสารเป็นตัวตั้งว่า การปรับเส้นทางนั้นทำให้ผู้โดยสารมีภาระเพิ่มขึ้นหรือไม่"

.

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวยืนยันว่า แนวทางจัดหารถเมล์เอ็นจีวีด้วยวิธีเช่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ส่วนการที่สศช.จะเสนอให้ครม.พิจารณาขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 1 สัปดาห์นั้น กระทรวงคมนาคมเห็นว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายไม่ว่า ครม.จะมีความเห็นอย่างไร กระทรวงคมนาคมก็พร้อมดำเนินการตาม และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแน่นอน

.

นายโอภาส  เพชรมุณี รักษาการ   ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ขสมก.ไม่ติดใจว่าการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี จะใช้วิธีเช่าหรือซื้อ แต่ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมีรถเมล์เอ็นจีวีใหม่เข้ามาให้บริการ เพื่อช่วยแก้ไขฐานะการเงินของ ขสมก.จากปัจจุบันที่ขาดทุนเดือนละ 500-600 ล้านบาท

.

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เตรียมนำข้อมูลและขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับการเปิดระบายข้าวสารสต๊อกรัฐบาล เข้าชี้แจงและหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุม ครม. วันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อขอความชัดเจนนโยบายด้านข้าว โดยเฉพาะการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะขณะนี้กระทรวงพาณิชย์สั่งให้องค์ การคลังสินค้า (อคส.) ยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวกับผู้ส่งออก 17 รายที่ชนะการประมูลไปแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร 

.

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งระบาย  ข้าวในสต๊อกทันที เพราะผู้ส่งออกไม่เหลือข้าวในมือเพื่อส่งออกแล้ว และตอนนี้ชาวนาปลูกข้าวได้ก็นำเข้าโครงการรับจำนำหมด ทำให้ผู้ส่งออกหาซื้อข้าวไปส่งออกเองไม่ได้ โดยยอดส่งออกข้าวปัจจุบันเหลือเพียงเดือนละ 5 แสนตัน หากเป็นเช่นนี้ทั้งปีอาจส่งออกไม่ถึง 8.5 ล้านตันได้

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์