เนื้อหาวันที่ : 2009-06-29 16:29:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1064 views

พลังงาน เล็งส่งออกเอทานอลไป EU หลังมีแผนใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม

รมว.พลังงาน คุยโวตั้งเป้าส่งออกเอทานอลไป EU หลังกลุ่ม EU ประกาศใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม 20% ภายใน 10 ปี เตรียมเดินหน้ากรอบความร่วมมือพลังงานอาเซียนและยุโรปในเวลา 2 ปี

นพ. วรรณรัตน์  ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

.

รมว.พลังงาน ตั้งเป้าส่งออกเอทานอลไปตลาดสหภาพยุโรป(EU)เป็นตลาดใหญ่ หลังกลุ่ม EU ประกาศใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม 20% ภายใน 10 ปี โดยเตรียมเดินหน้ากรอบความร่วมมือพลังงานอาเซียนและยุโรปในเวลา 2 ปี ซึ่งชาติอาเซียนได้งบประมาณสนับสนุนจาก EU ร่วม 4 ล้านยูโร หรือประมาณ 200 ล้านบาท

.

"นับเป็นโอกาสดีของชาติในอาเซียนซึ่งจะได้เป็นตลาดส่งออกหลักให้แก่ EU โดยเฉพาะผลผลิตเอทานอลจากประเทศไทย และไบโอดีเซลจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวถึงผลการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานตามกรอบเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ที่กรุงบรัซเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

.

โดยกลุ่ม EU มีแผนส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเริ่มเดินหน้าโครงการ E85 และไบโอดีเซล B30(สัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล 30% น้ำมันดีเซล 70%) ซึ่ง EU ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 20% และมาจากเชื้อเพลิงชีวภาพสูงถึง 10% ซึ่งคาดว่าจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลกแทนสหรัฐอเมริกา 

.

ด้านความร่วมมือของกลุ่มชาติอาเซียน-EU ได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน(ASEAN-EU work plan 2010) ที่จะใช้เป็นกรอบความร่วมมือในระยะ 2 ปี ซึ่งจะได้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการลงทุนในโครงข่าวพลังงานข้ามประเทศ การพัฒนาและการค้าเชื้อเพลิงชีวภาพ และการส่งเสริมเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน โดย EU ได้กำหนดงบประมาณความช่วยเหลือให้แก่อาเซียน 4 ล้านยูโร หรือประมาณ 200 ล้านบาท

.

"แผนปฏิบัติการด้านพลังงานดังกล่าวจะนำเสนอพิจารณาอนุมัติในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน(AMEM 2009) ที่ประเทศพม่า ประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว 

.

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้รับทราบถึงกรอบความตกลงเอเชีย-EU ด้านความมั่นคงพลังงาน โดยเฉพาะการค้าและการขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งปัจจุบัน EU ได้ออกกฎหมายใหม่กำหนดให้มี Super Regulator(หน่วยงานกลางในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน) ในระดับภูมิภาคขึ้นแทน  Regulator ของแต่ละประเทศ โดยใช้เป็นกลไกกำกับดูแลระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าระหว่างประเทศ หรือ Interconnections ซึ่งชาติในเอเชียจะได้นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในภูมิภาคต่อไป