เนื้อหาวันที่ : 2009-06-29 12:16:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1493 views

มาร์ค ย้ำไม่ได้แปรรูปให้เอกชน เพียงแต่ปรับองค์กรให้การรถไฟดีขึ้น

"ประธานสหภาพการรถไฟฯ ค้านแผนปรับโครงสร้างและตั้งบริษัทลูก ระบุเป็นการ "ฮุบกิจการ" นักวิชาการชี้ ชะลอแผนฟื้นฟูยิ่งทำให้การรถไฟฯขาดทุนหนัก แนะเคลียร์สหภาพและตั้งกรรมการกำกับให้เกิดธรรมาภิบาล

.

"อภิสิทธิ์" ย้ำไม่มีนโยบายแปรรูป ร.ฟ.ท.ให้เอกชน ชี้เป็นเพียงปรับระบบการบริหารจัดการ ช่วยให้ฐานะรถไฟดีขึ้น ประธานสหภาพการรถไฟฯ ค้านแผนปรับโครงสร้างและตั้งบริษัทลูก ระบุเป็นการ "ฮุบกิจการ" โอนถ่ายให้บริษัทลูก พร้อมเสนอ 8 แนวทางปฏิรูป ด้านนักวิชาการชี้ ชะลอแผนฟื้นฟูยิ่งทำให้การรถไฟฯขาดทุนหนัก แนะเคลียร์สหภาพและตั้งกรรมการกำกับให้เกิดธรรมาภิบาล รวมถึงฟังความเห็นประชาชนว่าจะให้แปรรูปหรือไม่

.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ถึงกรณีที่พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกมาประท้วงคัดค้านแผนการฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ว่า ถือเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ซึ่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เจรจาจนเกิดความเข้าใจที่ดีแล้ว

.

และจะเปิดโอกาสให้สหภาพการรถไฟฯ เข้ามามีส่วนร่วมในแผนฟื้นฟูด้วย ความจริงแล้วไม่ใช่การแปรรูป ร.ฟ.ท.ไปให้เอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการปรับระบบการบริหารจัดการภายใน เพื่อแยกงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรางออกจากงานการวิ่งรถ รวมทั้งแยกออกจากงานการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้ฐานะและการบริการของ ร.ฟ.ท.ดีขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม แผนงานดังกล่าวนี้รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด จนกว่าจะมีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลและพนักงาน ร.ฟ.ท. เป็นที่ตกลงร่วมกันก่อน

.

"ผมอยากเรียกร้องไปยังพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มว่า หากมีปัญหาหรือต้องการแสดงความคิดเห็นอะไร ทุกคนสามารถที่จะเรียกร้องและนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ มายังรัฐบาลได้ แต่วิธีการเสนอปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ควรจะทำให้ประชาชนในสังคมได้รับความเดือดร้อน" นายกรัฐมนตรีกล่าว

.
สหภาพฯ อ้างแผนปรับองค์กรขัด พรบ.

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดแถลงข่าวถึงแผนการปรับโครงสร้างและการจัดตั้งบริษัทลูก โดยระบุว่า ขั้นตอนการดำเนินการไม่เคารพต่อสิทธิของสหภาพฯ และการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งขัดต่อ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม

.

อย่างไรก็ตาม แผนการปรับโครงสร้างไม่ใช่แค่การแปรรูป ไม่ใช่การขาย แต่ถือเป็นการฮุบกิจการของ ร.ฟ.ท. ที่ต้องมีการถ่ายโอนภารกิจ สินทรัพย์ และหนี้สินให้แก่บริษัทลูก คือบริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารทรัพย์สิน สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่เพิ่มขึ้น 10% และปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี

.

โดย ร.ฟ.ท.จะเหลือเพียงการดูแลระบบรางและระบบอาณัติสัญญาณเพียงอย่างเดียว จะไม่มีหลักประกันว่าในอนาคตบริษัทลูกจะเปิดให้เอกชนเข้าถือหุ้นด้วยหรือไม่ รวมทั้งพนักงานของ ร.ฟ.ท.ที่ย้ายไปทำงานกับบริษัทลูกไม่สามารถกลับมาทำงานที่ ร.ฟ.ท.ได้อีก เนื่องจากไม่มีตำแหน่งงานรองรับ

.
เสนอ 8 แนวทางปฏิรูปการรถไฟฯ

โดยสหภาพการรถไฟฯ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะปฏิรูปองค์กรและการให้บริการประชาชน แต่แผนของรัฐบาลและฝ่ายบริหารของ ร.ฟ.ท.ไม่มีความชัดเจน จึงได้เสนอแนวทางในการปฏิรูป ร.ฟ.ท.ใน 8 ประเด็น ประกอบด้วย

.
1.ให้จัดสร้างรางคู่ทั่วประเทศ
2.ให้สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญต่างๆ
3.ให้จัดหารถจักรและล้อเลื่อนทดแทนรถเก่าที่ใช้งานมานาน
.

4.ปรับปรุงการบริหารที่ดินให้มีประสิทธิภาพ เพราะที่ดินเชิงพาณิชย์ 36,302 ไร่ มีรายได้เพียงปีละ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น หรือโดยเฉลี่ยตารางวาละ 5 บาท 80 สตางค์ต่อเดือน
5.ให้มีการแบ่งแยกบัญชี สินทรัพย์ หนี้สิน และการลงทุนของการรถไฟฯ ให้ชัดเจน เพราะระบบบัญชีปัจจุบันกว่า 61,753 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดจากการลงทุน

.

6.ให้แก้ปัญหาทางตัดผ่านเสมอระดับทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความเร็วขบวนรถและลดอุบัติเหตุ
7.ให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนการให้บริการเพื่อสังคมที่ต่ำกว่าราคาทุน หรือ PSO ที่รัฐบาลค้างจ่าย ร.ฟ.ท.ตั้งแต่ปี 2547 กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.ต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องชดเชยเงินส่วนนี้และรับภาระดอกเบี้ยจำนวน 2,000 ล้านบาทต่อปี
8.เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการถึงที่มาของคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งของครม. กระทรวงต้นสังกัด และผู้บริหารสูงสุดที่มาจาก

.

การสรรหา ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีการแทรกแซงจากการเมือง เชื่อว่าหากมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมตรวจสอบอย่างโปร่งใส ร.ฟ.ท.ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรและตั้งบริษัทลูก

.
อัดนายกฯ สร้างวาทกรรมทางการเมือง

ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า แผนดังกล่าวไม่ใช่การแปรรูป ร.ฟ.ท.ไปให้เอกชน เป็นเพียงการปรับระบบการบริหารจัดการภายใน ทำให้ฐานะและการบริการการรถไฟฯ ดีขึ้น นายสาวิทย์ กล่าวว่า ขอให้นายกฯ ศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน ควรเปิดให้ประชาชนและสหภาพการรถไฟฯ เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

.

"สหภาพฯ เห็นด้วยกับการปฏิรูป ร.ฟ.ท. และยอมรับการเปลี่ยนแปลง แต่นโยบายทางการเมืองไม่ชัดเจน ผมอยากให้นายกฯ ไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดของแผนให้ชัดเจน สิ่งที่นายกฯ พูดเป็นเพียงการสร้างวาทกรรมทางการเมืองใหม่เท่านั้น เพียงไม่ต้องการมีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะการแยก 2 บริษัท ไม่ใช่การแปรรูป ไม่ใช่การขาย แต่เป็นการฮุบกิจการ แลกกับเงินเพียง 560 ล้านบาทของภาครัฐ ก็สามารถแลกทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.ได้ ผมรับไม่ได้กับแผนปรับโครงสร้างครั้งนี้" นายสาวิทย์ กล่าว

.
โวยผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เกณฑ์พนักงานให้กำลังใจ

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ในการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะกรรมการและฝ่ายบริหารการรถไฟฯ วันนี้ (29 มิ.ย.) และวันที่ 1 ก.ค.2552 จะหารือกับนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตนและพนักงานสหภาพฯ จะไปร่วมแน่นอน แต่ตนรู้สึกว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย

.

เพราะผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.มีการเกณฑ์พนักงานมาให้กำลังใจ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณพนักงานขับรถและช่างเครื่อง 16 คน ที่ทำงานในวันที่ 22-23 มิ.ย.2552 ไม่รู้ว่าไปขับรถสายไหน ให้บริการอย่างไร เป็นการสร้างความแตกแยกภายในองค์กร ถือว่าไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพของสหภาพฯ

.

ขณะที่สหภาพฯ จะออกสมุดปกขาวชื่อ "ความจริงของจำเลยสังคม" เพื่อชี้แจงเหตุผลและรายละเอียดการปรับโครงสร้าง และการจัดตั้งบริษัทลูก ที่สหภาพฯ ไม่ยอมรับให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งจะแจกจ่ายเร็วๆ นี้

.

นอกจากนั้นระบุว่า นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟฯ อาจไม่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่ง หลังจากเคยเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการการต่อสัญญากับตลาดซันเดย์ ในสมัยที่นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ เป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2552 ให้ดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนในการทุจริตหรือความไม่ถูกต้องในเรื่องนี้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด โดยสหภาพฯ จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและอาจดำเนินคดีแทน

.

นักวิชาการฟันธง ชะลอแผนฟื้นฟูยิ่งทำให้การรถไฟฯขาดทุนหนัก ทะลักปีละ 2 หมื่นล้านแน่ แนะเคลียร์สหภาพและตั้งกรรมการกำกับให้เกิดธรรมาภิบาล

.

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ถึงการชะลอแผนฟื้นฟูโครงสร้างบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่าไม่เห็นด้วยเพราะยิ่งล่าช้าก็ยิ่งเกิดผลเสียหาย

.

โดยเฉพาะปัญหาการขาดทุนที่จะเพิ่มจากหลักหมื่นล้านบาทเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาทต่อปีอย่างแน่นอน เนื่องจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และยิ่งจะทำให้ปัญหายอดหนี้สะสมเพิ่มขึ้นอีกจากเดิมที่มีอยู่ 72,000 ล้านบาททวีความรุนแรงขึ้นและจะเป็นภาระต่อรัฐบาลและเงินภาษีประชาชน

.

"เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับสหภาพ และพนักงาน อย่างจริงจังเพื่อสร้างความเข้าใจว่าการตั้งบริษัทลูกไม่ใช่การแปรรูป เป็นการลดความสูญเสีย และต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแลการบริหารจัดการโดยมีผู้ทรงวุฒิ ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อป้องกันปัญหาการปรับราคา สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนหรือฮั้วราคาค่าบริการเพื่อให้การธรรมาธิบาลและสร้างความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ต้องถามประชาชนผู้ใช้บริการด้วยเห็นด้วยหรือไม่กับการฟื้นฟู ร.ฟ.ท.หรือไม่"

.

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ได้ทำสมุดปกขาว ถึงรัฐบาลถึงแนวทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ลดการขาดทุน และได้มีการพูดคุยกับ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งก็เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับปรุงการบริหารงานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

.

และเห็นว่าจำเป็นต้องทำเพราะไม่เฉพาะแต่องค์กรที่ขาดทุนมีปัญหา องค์กรที่มีกำไรก็มีปัญหาเช่นกัน ซึ่งถ้าหากมีการบริหารจัดการที่ดี แต่ละปีรัฐบาลต้องไม่ต้องนำเงินไปอุดหนุนปีละ 5 แสนล้านบาท แต่ถ้าหากเพิ่มขีดความสามารถในการบริการแล้วลดค่าใช้จ่ายประหยัดไปได้ 5% ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว และยังสามารถนำเงินไปทำอย่างอื่นได้"

.

ดร.สังศิต ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ถ้าหากมีการบริหารที่ดียังช่วยให้เอกชนลดต้นทุน เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นฐานด้านการขนส่งแทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้ามีการบริหารจัดการได้ดี ก็จะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชน ที่ต้องอาศัยระบบเครือข่าย โลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐวิสาหกิจน่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้

.

นอกจากนี้อยากให้เร่งทำการศึกษา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาขาดทุนมาก อาทิ การบินไทย ขสมก. ร.ฟ.ท. เป็นต้น อย่างละเอียด ถึงปัญหา และแนวทางในการแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะน่าแล้วเสร็จในราวปลายปีเพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท