บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เชื่อมั่นรายได้รวมยังเป็นไปตามเป้าที่ 3,800 ล้านบาท หลังถูกหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บอยคอต สั่งเอเย่นต์งดส่งหนังสือพิมพ์และนิตยสารให้ร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คจำหน่าย
บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เล็งจัดระเบียบระบบสายส่งเอง หลังถูกหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บอยคอต สั่งเอเย่นต์ทั่วประเทศงดส่งหนังสือพิมพ์และนิตยสารกว่า 600 หัวหนังสือ เข้าวางจำหน่ายในร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ต่างจังหวัดทุกสาขา เผยรายได้หายไปกว่าวันละ 5 แสนบาท หลังถูกกีดกันในการจำหน่ายสินค้าตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.เป็นต้นมา แต่ยังเชื่อมั่นรายได้รวมยังเป็นไปตามเป้าที่ 3,800 ล้านบาท |
. |
นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาหลังการปฏิวัติ ซึ่งมีหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ฉบับหนึ่งที่ออกหนังสือพิมพ์ช้า ทำให้เอเย่นต์บางรายต้องมีการส่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ออกไปยังร้านหนังสือต่าง ๆ ก่อน เพราะไม่มั่นใจว่าหนังสือพิมพ์หัวดังกล่าวจะออกทันหรือไม่ ผลปรากฏว่าในวันนั้นร้านหนังสือซีเอ็ดที่ไม่มีหนังสือพิมพ์หัวดังกล่าวจำหน่ายมีเพียง 9 สาขา จากจำนวน 210 สาขาทั่วประเทศ และนั่นคงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวดังกล่าวเกิดความไม่พอใจ จึงได้มีการขอร้องให้ทางเอเย่นต์ในต่างจังหวัดทั้งหมด หยุดการส่งหนังสือพิมพ์และนิตยสารให้กับร้านซีเอ็ดทุกสาขาในต่างจังหวัด |
. |
แต่ทางบริษัทยังเชื่อมั่นว่าบริษัทฯจะยังคงมีรายได้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้คือ 3,600-3,800 ล้านบาท แม้จะสูญเสียรายได้ไปกว่าวันละ 5 แสนบาท และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางบริษัทฯได้ดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้นไปแล้ว ด้วยการนำเอาพ๊อกเก็ตบุ๊ก มาวางจำหน่ายประมาณกว่า 600 หัวหนังสือ แทนที่นิตยสารที่หายไปจากแผง ส่วนหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ฉบับอื่นก็ยังคงให้ทางบริษัทฯ จำหน่ายให้อยู่ เช่น เครือมติชน |
. |
ในสังคมการค้าเสรีแบบนี้ จะมีใครบางคน ที่สามารถกำหนดได้ว่า จะให้เอเย่นต์ทั่วประเทศ ส่งสินค้าให้ใครหรือไม่ให้ใครก็ได้ และสามารถบอกให้ร้านหนังสือจะขายอะไร หรือไม่ให้ขายอะไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะเป็นลบหรือเป็นบวกก็ตาม เพียงแค่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ร่วมกันทำให้ส่วนรวมเจริญก้าวหน้า วงการสิ่งพิมพ์ก็จะแข็งแรง ยั่งยืน ต่อไป นายทนง กล่าว |