สศอ. เดินหน้าโครงการพัฒนาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ตอบสนองผู้ผลิตในประเทศและสมาชิกอาเซียน จับมือสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเอกชนเจรจาจับคู่ทางธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ณ ประเทศเวียดนาม
"หนึ่งประเทศครบวงจรแต่ต้นทุนเริ่มสูงลิ่ว กับอีกหนึ่งประเทศยังไม่ครบวงจรแต่พร้อมอ้าแขนรับการลงทุน แถมต้นทุนยังไม่สูงมากนัก คุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาว" หากยกประโยคนี้มานิยามถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยกับเวียดนาม ถือว่าให้ภาพที่ชัดเจนยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีความครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะที่เวียดนามอยู่ในช่วงก้าวแรกๆ ของการพัฒนาแต่ยังไม่เกิดความแข็งแกร่งเฉกเช่นประเทศไทย |
. |
. |
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เพื่อตอบสนองผู้ผลิตในประเทศและสมาชิกอาเซียน โดยร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พร้อมด้วยภาคเอกชนได้เข้าร่วมการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจและรวบรวมข้อมูลอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ณ ประเทศเวียดนาม เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและเวียดนามได้พบปะเจรจาทางธุรกิจให้เกิดความสัมฤทธิ์ผล |
. |
เนื่องจากเวียดนามเองถือเป็นประเทศที่เริ่มพัฒนาในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอย่างรวดเร็ว แต่ความพร้อมในหลายๆ ด้านยังเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญ หากได้รับความร่วมมือจากฝ่ายไทยจะช่วยให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถไปได้อีก ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในการขยายตลาด และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เหนียวแน่น |
. |
โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของโลกมีอัตราการขยายตัวประมาณปีละ 3.6%โดยกลุ่มอาเซียนถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อปี 2551 มีอัตราการขยายตัว 6.32% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 36,882 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยมีการขยายตัว 3.8% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,326 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนามมีการขยายตัว 23% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,309 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจ |
. |
สำหรับประเทศเวียดนามมีศูนย์กลางอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอยู่ที่นครโฮจิมินห์ โดยมีผู้ผลิตทั้งระบบอยู่ประมาณ 2,500 บริษัท ประมาณ 70% ตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศ อีกประมาณ 20% ตั้งอยู่ที่ฮานอยเป็นหลัก และส่วนที่เหลือกระจายอยู่ทางภาคกลาง ซึ่งมีการจ้างงานประมาณ 2 ล้านคน และเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 รองจากน้ำมันดิบ |
. |
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ภายในปี 2553 ตั้งเป้าหมายในการส่งออกมีมูลค่า 18 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2558 เวียดนามตั้งเป้าหมายเป็น 1 ใน 5 ของโลกในอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และปี 2563 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ไม่ธรรมดา |
. |
ขณะที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยทั้งระบบมีอยู่ประมาณ 4,416บริษัท กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมประมาณ 1.1 ล้านคน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ โดยปี 2551 อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 6,326 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นผู้ส่งออกลำดับที่ 21ของโลก ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นและอาเซียน |
. |
แม้ทั้งสองประเทศจะมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปเช่นกัน แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงทำให้คำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มลดลง โดยประเทศเวียดนามถือว่าได้รับผลกระทบมากกว่าไทย เนื่องจากคู้ค้าหลักเหล่านั้นมั่นใจในฝีมือการผลิตผลิตภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากไทยมากกว่า |
. |
รวมทั้งปัจจัยด้านการนำเข้าวัตถุดิบ สำหรับผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 70% ที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอทั้งหมดของเวียดนาม ทำให้มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับไทย |
. |
ดังนั้น เวียดนามจึงเล็งกระตุ้นการขายในประเทศและในตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ซึ่งจากจุดนี้เองจึงเป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยและเวียดนามได้เริ่มมีการเจรจาจับคู่กันมากขึ้น ด้วยเห็นว่าการใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศเพื่อกลบจุดอ่อน จะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนที่มากกว่า และอนาคตตลาดอาเซียนยังคงเป็นตลาดบริโภคหลักที่มองข้ามไม่ได้ |
. |
จากการเข้าร่วมเจรจา ณ ประเทศเวียดนาม จะได้เห็นภาพของผู้ประกอบการไทยและเวียดนาม จับคู่เจรจาสานประโยชน์ทางธุรกิจถือว่าจะเกิดประโยชน์ในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศเวียดนามมีความต้องการใช้และนำเข้าสิ่งทอค่อนข้างสูง ตามความต้องการของโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ขยายการผลิต เพื่อการส่งออกและความต้องการภายในประเทศที่มีมาก เนื่องจากมีจำนวนประชากรมากถึง 87 ล้านคน จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มต้นน้ำ - ปลายน้ำ ไปประเทศเวียดนามได้มากขึ้น |
. |
นอกจากนี้ประเทศเวียดนามมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระยะยาว ถึงปี 2563 ในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าสิ่งทอต้นน้ำ -.กลางน้ำ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมปลายน้ำในอนาคต รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องนุ่งห่มเพื่อลดต้นทุน ดังนั้น ในอนาคตข้างหน้าไทยจะต้องปรับตัว หากเวียดนามสามารถผลิตสินค้าต้นน้ำ-กลางน้ำได้เองภายในประเทศ ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอีกต่อไป |
. |
ข้อได้เปรียบของสินค้าสิ่งทอของไทย คือ ภาษีนำเข้าตามข้อตกลงอาเซียนจะลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2558 และระยะทางใกล้กว่าประเทศอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ หรือ อินโดนีเซีย รวมทั้งไทยมีสินค้าต้นน้ำที่ครบถ้วน และการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน กับประเทศอื่นๆ ทำให้เวียดนามต้องมีการใช้วัตถุดิบที่ผลิตภายในประเทศอาเซียนด้วยกันเอง จึงเป็นโอกาสของสินค้าสิ่งทอไทยที่ประเทศเวียดนามหรือประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนจะสั่งซื้อสินค้าได้มากขึ้น |
. |
นอกจากนี้จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้เวียดนามส่งออกเสื้อผ้าไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้ยากลำบากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการของเวียดนามเริ่มสนใจตลาดเสื้อผ้าภายในประเทศมากขึ้น โดยจากการสำรวจโดย Vinatex คาดว่าตลาดการบริโภคภายในประเทศเวียดนาม มีประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 และอาจจะถึง 5.5 - 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน ปี 2553 หรือขยายตัว 18-20% |
. |
และทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งหนทางที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งหากว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งไทยและเวียดนาม สามารถทอสายใยซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืน ย่อมส่งผลต่อการเติบโตอย่างทรงพลังและก้าวสู่การเป็นเจ้าแห่งอาเซียนได้อย่างไม่ยากนัก |
. |
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร |