เนื้อหาวันที่ : 2009-06-26 09:36:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3989 views

สหภาพแรงงานคาวาซากิฯ ชุมนุม ทนไม่ไหวนายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและเลิกจ้างกรรมการสหภาพ

สหภาพแรงงานคาวาซาฯ กว่า 700 คนชุมนุมกดดันให้บริษัทกลับมาใช้เวลาการทำงานเดิมและรับคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ กลับเข้าทำงานหลังถูกบังคับข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน ชี้บริษัทละเมิดกฎหมาย

.

ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.52 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์แห่งประเทศไทย และพนักงานคาวาซากิมอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย จำกัด ประมาณ 700 คน ได้ชุมนุมอยู่ที่หน้าทางเข้านิคม จี เค แลนด์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยแรงงานได้ร้องให้บริษัทฯกลับมาใช้เวลาการทำงานเดิม (08.00-17.00น.) และให้รับคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ ทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงือนไข

.

สหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงว่าสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2552 บริษัทฯ ได้เรียกคณะกรรมการสหภาพฯ ประชุมเพท่อชี้แจงว่าบริษัทฯ จะเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานปกติเพิ่มขึ้นอีกวันละครึ่งชั่วโมง 

.

ต่อมาในวันที่ 1 พ.ค. 52 บริษัทฯ ได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานปกติเพิ่มขึ้นจากเดิม วันละ 8 ชั่วโมง (ทำงาน 08.00 – 17.00 น.) เป็นวันละ 8 ชั่วโมงครึ่ง (ทำงาน 08.00 - 17.30 น.) โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการลดต้นทุน และได้ออกเอกสารให้พนักงานลงลายมือชื่อยินยอมโดยดำเนินการข่มขู่ บีบบังคับมาอย่างต่อเนื่อง

.

เมื่อสหภาพแรงงานฯ แจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานเข้ามาตรวจสอบขอเท็จจริง จึงพบว่า บริษัทฯได้กระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และได้สั่งให้บริษัทฯจ่ายล่วงเวลาในสัปดาห์ที่มีการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงในอัตรา 1.5 เท่า บริษัทฯจึงยอมจ่ายค่าล่วงเวลาที่พนักงานได้ทำเกินรวม 6 ชั่วโมง ทั้งที่บริษัทฯมีที่ปรึกษาด้านกฎหมายอยู่แล้ว แต่ยังจงใจฝ่าฝืนละเมิดกฎหมาย

.

บริษัทฯ ละเมิดกฎหมาย โดยครั้งแรก บริษัทฯออกประกาศฉบับที่ ธก.064/2552 เรื่องการเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานตามปกติ ลงวันที่ 9 เม.ย. 2552 โดยบริษัทฯ เหมารวมให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามจนสหภาพแรงงานฯ ได้นำเรื่องนี้ให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ย และศาลแรงงานได้ชี้ออกมาว่าบริษัทฯ ทำผิดกฎหมายแต่ถ้าจะดำเนินการให้เป็นไปตามความสมัครใจของพนักงาน

.

จากนั้นเมื่อบริษัทฯ ได้ยอมจ่ายค่าล่วงเวลาที่มีทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และทำการโยกย้ายวันทำงานโดยนำเอาวันหยุดที่ 13 - 14 ในเดือนสิงหาคมให้เป็นวันทำงาน และนำวันทำงานที่ 8 ในเดือนสิงหาคมและวันทำงานที่ 19 ในเดือนธันวาคมเป็นวันหยุด การกระทำดังกล่าวขัดกับ พ.ร.บ. สัมพันธ์ 2518 มาตรา 20 ถึงแม้บริษัทฯ จะอ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันทำงานซึ่งถือเป็นสภาพการจ้างจะต้องได้รับการยินยอมจากสหภาพแรงงานฯและพนักงานเสียก่อน

.

จากนั้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 พนักงานได้รวมตัวกันหน้าบริษัทเพื่อให้ตัวแทนบริษัทออกมาชี้แจง ซึ่งหลังจากนั้นอีกหนึ่งวัน ทางบริษัทฯ ออกประกาศห้ามใช้สถานที่ของบริษัทฯ ชุมนุม และจะเอาผิดกับพนักงาน

.

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 บริษัทได้มีหนังสือสั่งให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานฯทั้ง 11 คน หยุดงานชั่วคราวเพื่อรอคำสั่งศาลอนุญาตเลิกจ้างด้วยข้อกล่าวหาว่า สหภาพแรงงานฯ จัดชุมนุมประท้วงและให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในลักษณะโจมตีให้ร้ายต่อบริษัทฯ ทำให้พนักงานแตกแยกความสามัคคี ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท