เนื้อหาวันที่ : 2009-06-25 16:19:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2526 views

ม.อ.ชูเทคนิค "พีซีอาร์" ตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอหมูปนเปื้อน

ม.อ.พัฒนาการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอหมูในเนื้อสัตว์ด้วยเทคนิคพีซีอาร์ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยแข่งตลาดโลก หวังรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในภาคใต้

.

ม.อ.พัฒนาการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอหมูในเนื้อสัตว์ด้วยเทคนิคพีซีอาร์ แยกความแตกต่างจากดีเอ็นเอหมูกับสัตว์อื่น สร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอาหารฮาลาล หวังรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในภาคใต้

..

นางพจชนาถ จันทรัศมี นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้พัฒนาการตรวจวิเคราะห์หาดีเอ็นเอหมูในเนื้อสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารฮาลาล กำลังได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

.

โดยเฉพาะผู้บริโภคในประเทศมุสลิมที่มีเป็นจำนวนมาก จนทำให้เป็นตลาดสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องการเข้าไปขยายตลาดอุตสาหกรรมอาหารให้กับผู้บริโภคในกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การผลิตอาหารฮาลาลได้มีกฎระเบียบข้อบังคับหลายประการ ที่ต้องเข้าตามบทบัญญัติของหลักศาสนาอิสลาม ทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลให้ได้ตรงตามหลักศาสนา

.

ทั้งนี้ ทางศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ มองว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตอาหารเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ การสร้างมาตรฐานในอุตสาหกรรมให้ต่างประเทศยอมรับจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบในการผลิตที่อาจมีการปนเปื้อนหรือผสมระหว่างเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักบัญญัติของศาสนาอิสลาม

.

ทางศูนย์ฯ จึงได้พัฒนาการตรวจบริการวิเคราะห์ดีเอ็นเอหมูจากเนื้อสัตว์ด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (พีซีอาร์) ที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างดีเอ็นเอหมูกับเนื้อสัตว์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค  

.

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ ทางศูนย์ฯ จะใช้เทคนิคพีซีอาร์ ซึ่งเป็นเทคนิคสำหรับเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ โดยอาศัยหลักการสังเคราะห์สายดีเอ็นเอสายใหม่ จากดีเอ็นเอต้นแบบในห้องทดลอง โดยจุดเด่นของเทคนิคพีอาร์ซีนี้ สามารถเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อนำดีเอ็นเอที่ได้ไปผ่านเข้าตรวจด้วยเครื่อง Electrophoresis set และเครื่อง Gel Documentation หรือเครื่องถ่ายภาพแบบแบนดีเอ็นเอ ซึ่งการตรวจหากพบว่ามีการปนเปื้อนของหมู ก็จะพบแถบแบนดีเอ็นเอของหมูปรากฏในเครื่อง Gel Documentation แต่จะไม่พบแถบแบนในเนื้อสัตว์ประเภทอื่น 

.

"ทางศูนย์ฯ ได้นำผลการศึกษามาพัฒนาสู่งานการให้บริการเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ โดยจะทำการตรวจหาดีเอ็นเอหมูที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรสให้แก่ภาคเอกชนที่สนใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งและการยอมรับในการผลิตอาหารให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตอาหารของไทย" นางพจชนาถ กล่าว