เนื้อหาวันที่ : 2009-06-25 10:09:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2379 views

ข้ามพ้นปัญหาขัดแย้งด้านที่ดิน รัฐต้องรับรองสิทธิชุมชนและโฉนดชุมชน

รัฐเดินหน้าจัดการรับรองสิทธิชุมชนและโฉนดชุมชน ตั้งคณะทำงานศึกษา 4 ชุด หวังแก้ปัญหาที่ดิน มุ่งสร้างความมั่นคงในการถือครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน และความมั่นคงทางด้านอาหาร

.

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย 2552 ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

 .

สำหรับหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้คือการพิจารณาผลการศึกษา ของคณะทำงาน 4 ชุด ที่มีการแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา ได้แก่ คณะทำงานศึกษามาตรการด้านกฎหมาย คณะทำงานศึกษาโครงสร้างภาษี คณะทำงานศึกษาแนวทางการคุ้มครองครองพื้นที่เกษตรกรรมและโฉนดชุมชน และคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำแผนปฏิบัติการนำร่อง

 .

นางศยามล ไกรยูรวงศ์ ตัวแทนของคณะทำงานศึกษาทั้ง 4 ชุด ได้นำเสนอผลการศึกษาโดยภาพรวมว่า "วิกฤตปัญหาที่ดินมีรูปธรรมเด่นชัดเรื่องการกระจุกตัวในการถือครองที่ดิน จากข้อมูล 50 รายแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุด มีที่ดินถึงร้อยละ 10 ในกรุงเทพฯ ตรงข้ามกับการถือครองที่ดินของ เกษตรกรร้อยละ 40 ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่

 .

ก่อให้เกิดปัญหาการบุกรุกที่ดิน ที่ดินถูกปล่อยร้าง และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสม กรณีที่ดินเอกชน มีกฎหมายผังเมือง แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดควบคุมการใช้ที่ดินได้อย่างเหมาะสม ที่ดินของรัฐ กลไกการปฏิรูปที่ดินของรัฐมีความล่าช้า ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสิทธิได้ และกระบวนการแก้ไขก็เป็นไปแบบตายตัว ไม่มีความยืดหยุ่น

 .

ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมี การแก้ไขปัญหาที่ดิน คือ การจัดการที่ดินโดยชุมชน การให้สิทธิชุมชนและโฉนดชุมชน หลักการของโฉนดชุมชน คือ การสร้างความมั่นคงในการถือครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล

 .

สำหรับเงื่อนไขปัจจัยสำคัญของโฉนดชุมชนคือ ชุมชนต้องมีการรวมกลุ่มการจัดการได้จริง โดยทำเป็นโครงการนำร่อง ต้องมีขอบเขตที่ดินที่ชุมชนร่วมกันจัดการได้ ชุมชนมีกระบวนการเรียนรู้และปรับใช้ตลอดเวลา มีการทำฐานข้อมูลโดยชุมชน ลักษณะสิทธิต้องเป็นสิทธิเชิงซ้อน มีความร่วมมือกับอปท.พัฒนาระบบภาษีในอัตราก้าวหน้า และที่สำคัญต้องมีตัวช่วยที่ดี มีกองทุนที่ดินเป็นเงินเบื้องต้นจากรัฐบาล"

 .

อาจารย์ดวงมณี เลาหกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาโครงสร้างภาษี ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในด้านภาษีและกองทุนธนาคารที่ดินว่า "ข้อเสนอด้านภาษีคือให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินอย่างจริงจัง และเก็บในอัตราที่สูงกว่านี้ในที่ดินที่ปล่อยรกร้างหรือที่ดินเก็งกำไร

 .

เพราะตอนนี้ที่ดินเหล่านี้ไม่มีภาระใดใด ควรมีการยกเว้นภาษีให้คนมีรายได้น้อยและคนยากจน จากร่างกฎหมายภาษีที่ดินของกระทรวงการคลังยังไม่มีการกระจายที่ดินอย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีอัตราก้าวหน้าและมีการศึกษาด้วยว่าขนาดที่ดินที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ โดยคำนึงถึง ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพในการผลิต และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

 .

สำหรับข้อเสนอในเรื่องการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เริ่มมีแนวคิดนี้มาตั้งแต่ ปี 2518 ต่อมาปี 2521 มีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินระหว่างธกส. และครม.ในสมัยนั้น แนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดินให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลทีแถลงไว้ต่อรัฐสภา

 .

โดยให้เป็นกองทุนอิสระ องค์การมหาชน ไม่แสวงหากำไร โดยกองทุนให้มาจากการแบ่งรายได้ร้อยละ 2 จากภาษีที่ดินเป็นเงินทุนในการจัดการ ระยะสั้นเริ่มจากการออกระเบียบสำนักนายกฯ โดยมีการรวมกองทุนด้านที่ดินต่างๆที่มีอยู่แล้วเอามาใช้ ในระยะยาว ควรมี พรบ.กองทุนธนาคารที่ดิน ออกเป็นองค์การมหาชน ซึ่งมีเจตนารมย์สนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน"

.

นายไพโรจน์ พลเพชร อนุกรรมการ ได้แสดงข้อกังวลเรื่องการได้มาข้อที่ดินและรายละเอียดด้านกลไกการบริหารจัดการว่า "ที่ดินได้มาอย่างไรเป็นปัญหาใหญ่าก ถ้าจะทำให้ยั่งยืนและต่อเนื่อง ต้องจัดระบบการบริหารจัดการและคนรับผิดชอบโดยตรง ในระเบียบสำนักนายกฯ ต้องมีการกำหนดกรรมการและภาระกิจที่ชัดเจน มีกรรมการบริหารในชุมชน มีบทบาทหน้าที่ มีหน่วยงานติดตามประเมินผลในพื้นที่ และแนวทางการเริ่มต้นของชุมชน"

.

นายประทีป เจริญพร รองอธิบดีกรมที่ดิน ได้ให้คำตอบในเรื่องข้อกังวลการได้มาของที่ดินว่า "อย่าพึ่งคิดว่าที่ดินเป็นของใคร จริงๆยังไม่รู้เลยว่าเป็นของใครด้วยซ้ำ ระยะสั้นให้ทำทดลองไปก่อน ในระยะยาวค่อยคิดกัน"

.

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ชี้แจงความคืบหน้าในการร่างระเบียบสำนักนายกฯเพื่อรองรับการจัดทำโฉนดชุมชนว่า "ตอนนี้กำลังมีการประชุมของคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อยกร่าง มีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นผู้ดูแล หลังจากยกร่างเสร็จสิ้นแล้วก็จะมีการจัดเวทีเพื่อให้แต่ละส่วนมาให้ความเห็น ทั้งภาครัฐ ข้าราชการ ชาวบ้าน และสื่อมวลชน ในหลักการองค์ประกอบต้องมาจากกระทรวงต่างๆที่กุมที่ดินของรัฐแต่ละประเภทอยู่ และดูว่าช่องทางในการจัดการและส่งมอบได้อย่างไร

.

จากนั้นก็เปิดให้ชุมชนที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมได้ ในระยะแรกชุมชนทีมีความพร้อมมีจาก คสม. 20 แห่ง คปท. 30 แห่ง ระยะที่หนึ่งเลือกมาที่พร้อม ระยะต่อไปก็เริ่มในชุมชนอื่นทีมีความพร้อมที่ขึ้นบัญชีไว้ โดยจะไม่มีการประกาศรับสมัคร แต่จะตรวจสอบดูว่าตอนนี้มีที่ดินที่มีคนอยู่ผิดกฎหมายที่ต้องทำให้ถูกต้องเท่าไหร่ ต้องยอมรับว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่มองที่ดินเป็นเชิงปัจเจก

.

ดังนั้นต้องยืนยันชัดเจนว่า โฉนดชุมชนจะเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลไม่ได้ จำนำ จำนอง จำหน่าย จ่ายโอนไม่ได้ และต้องยืนยันว่าให้พื้นที่เพื่อเกษตรกรรม มีระเบียบสำนักนายกฯ มีคณะกรรมการกำกับ ต้องเตรียมความพร้อม เจ้าหน้าที่รัฐในกรมในกระทรวงต้องเดินไปด้วยกันและต้องสนองนโยบายรัฐ"

.

ในช่วงสุดท้ายของการประชุมพิจารณาข้อเสนอจากผลการศึกษา นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ อนุกรรมการ ได้สรุปประเด็นว่า "สิ่งที่เราเสนอคือ โฉนดชุมชน และการเพิ่มมาตราในร่างพรบ.ภาษีที่ดินเพื่อแบ่งเงินรายได้ 2% นำมาใช้ในการกระจายการถือครองที่ดิน ในระยะยาว คือการมีพรบ.ธนาคารที่ดิน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีเวลาในการทำงานต่อเพื่อศึกษาให้เกิดความชัดเจนมากกว่า 30 วัน โดยเสนอเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน"

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท