เนื้อหาวันที่ : 2009-06-24 15:06:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2340 views

กทม.เล็งยืดสัญญา BTS แลกลงทุนส่วนต่อขยาย 6 หมื่นลบ.

กทม. เตรียมเสนอเงื่อนไขแก้ไขสัญญาสัมปทานให้กับ BTS แลกกับลงทุนส่วนต่อขยาย มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาทหากรัฐบาลโอนความรับผิดชอบให้ กทม. ดูแลแทน รฟม.

กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมเสนอเงื่อนไขแก้ไขสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) แลกกับลงทุนส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท หากรัฐบาลโอนความผิดชอบมาให้ กทม.ดูแลแทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)

.

.

"ถ้าส่วนต่อขยายสองส่วนนี้ กทม.เข้ามารับผิดชอบ รัฐบาลก็ไม่ต้องกู้เงิน ซึ่งจะช่วยลดภาระรัฐบาล โดยจะให้ผู้รับสัปทานเป็นผู้ลงทุน เราคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ที่จะแก้ไขสัญญาสัมปทานให้อาจจะยืดอายุเวลาออกไป แต่ก็ทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ที่ควบคุมอยู่แล้ว" นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.

.

ขณะนี้ ทาง กทม.ยื่นเรื่องขอเข้ารับผิดชอบส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิด-สะพานใหม่ กับทางกระทรวงมหาดไทยแล้ว คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการนำเสนอ ครม. 

.

นายจุมพล กล่าวว่า หากให้ BTS เป็นผู้ลงทุนเอง ก็จะช่วยทำให้ลดภาระเงินลงทุนไป 4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐไม่ต้องสร้างอู่ซ่อมใหม่และที่จอด นอกจากนั้น การให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นระบบเดียวจะช่วยลดต้นทุนค่าโดยสาร ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน 

.

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฎิบัติการ BTS กล่าวว่า บริษัทพร้อมลงทุนส่วนต่อขยายดังกล่าว โดยคาดว่าทางการจะเพิ่มระยะเวลาสัญญาสัปทานเส้นทางเดิม ซึ่งเหลืออายุสัญญาสัมปทานอยู่ 20 ปี  ขณะที่อายุสัมปทานเส้นทางใหม่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 30 ปี 

.
*ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง/วงเวียนใหญ่-บางหว้า เปิดประมูลเดินรถปี 54

นายจุมพล กล่าวว่า เบื้องต้นส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.2 กม.จำนวน 5 สถานี และส่วนต่อขยาย วงเวียนใหญ่-บางหว้า  ระยะทาง 5.5 กม.จำนวน 4 สถานี คาดว่าจะเปิดประมูลในการเดินรถในต้นปีและกลางปี 54 ตามลำดับหลังจากจะทดลองวิ่ง 3-4 เดือน โดยให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าโดยสารในระยะแรก ซึ่งการเจรจากับ BTS เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการเปิดประมูล  

.

ปัจจุบันงานก่อสร้างส่วนต่อขยาย่อนนุช-แบริ่งเสร็จไป 95% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.-ก.ย.นี้ หลังจากจะต้องติดตั้งอาณัติสัญญาณและระบบเดินรถ ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้กำหนดไว้อัตราผลตอบแทนของโครงการไม่เกิน 12-13%

.

ขณะที่ส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่-บางหว้า งานโยธาได้ก่อสร้างไปมากแล้ว รอเพียงส่วนท้ายที่ต้องสรุปงานก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินว่าจะเชื่อมต่อกันจุดใด เพราะจำเป็นต้องใช้สถานีร่วมกัน โดยอาจจะตัดเข้าถนนราชพฤกษ์ ราว 600-700 เมตร จากบางหว้า หรือ ถนนเพชรเกษม กม.4 โดยคาดว่ากลางปี 54 จะให้บริการได้ 

.

"ทางกรุงเทพธนาคม(บริษัทย่อยของกทม.)จะเป็นคนจัดการเดินรถ จะเปิดประกวดราคา แต่อาจมีทางเลือกพิจารณาเลือก BTS ก็ได้ เพราะตุ้นทุนการบริหารต่ำ การใช้ตั๋วเป็นระบบเดียวกัน"นายจุมพล กล่าว ทั้งนี้ หาก BTS ได้เป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายดังกล่าว ทางกทม.จะมีการปรับเพิ่มเพดานราคาค่าโดยสาร จากปัจจุบันอยู่ที่ 15-40 บาท 

.

สำหรับส่วนต่อขยายสนามกีฬาแห่งชาติ -พรานนก ระยะทางประมาณ 10 กม. นายจุมพล กล่าวว่า กทม.เตรียมเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์  หลังจากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะเปิดประมูลงานก่อสร้างได้ในปี 55 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม.ที่ต้องการทำให้เสร็จภายในสมัยที่เป็นผู้ว่ากทม. นี้ และจะใช้เวลาก่อสร่าง 3 ปี คาดเปิดใช้บริการในปี 58 

.
*เร่งแก้ปัญหาส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่

นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการ BTS กล่าวว่า ผลการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่ขยายสายสีลม(ตากสิน-วงเวียนใหญ่)2.2 กม. ที่เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ 15 พ.ค.-22 มิ.ย.พบว่ามีปัญหาการเดินรถอยู่ เกิดจากมีระบบอาณัติสัญญาณ 2 ระบบ คือ ระบบซีเมนส์ ซึ่งเป็นระบบเดิม กับระบบบอมมาดิเอร์ ซึ่งต้องใข้เวลาปรับเปลี่ยนมาใช่ระบบใหม่ หากแล้วเสร็จก็จะทำให้ความถี่ของรถเพิ่มมาเป็น 4 นาที/คัน นอกจากนั้น บริเวณสถานีตากสินยังมีรางวิ่งเพียงรางเดียว ทำให้เกิดสภาพคอขวด รวมทั้ง BTS ยังไม่เคยทดสอบระบบที่มีผู้ใช้บริการจริงมาก่อน

.

ในเบื้องต้น BTS จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้าอีก 12 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ที่จะรองรับเส้นทางนี้ โดยเริ่มล็อตแรกจะได้ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า ขณะที่ทางบอมมาดิเอร์ได้ปรับซอฟท์แวร์ให้ระบบเดินรถนิ่งกว่าเดิม "การบริการถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็อยู่ในระดับที่ประชาชนรับได้" นายอาณัติ กล่าว

.

สำหรับปัญหาสถานีตากสิน นายอาณัติ กล่าวว่า ในระยะยาว ทาง กทม.ไม่ยกเลิกสถานีสะพานตากสิน เพราะเห็นว่าเป็นจุดเชื่อมต่อทั้งเรือและรถโดยสาร แต่บริษัทร่วมกับ กทม.ศึกษาแก้ปัญหาสภาพคอขวดของสถานีสะพานตากสิน โดยคาดว่าน่าจะต้องทำการตัดขอบสะพานตากสินด้านที่ติดกับสถานีออกด้านละ 1.50 ม. ยาวประมาณ 150-200 ม. จะทำให้ช่องกลางระหว่างสะพานเป็นที่ตั้งของสถานีสะพานตากสินมีความกว้างพอที่จะทำ 2 รางเช่นเดียวกับสถานีอื่น