"ธีระ"ค้านตปท.ลงทุนจ้างเกษตรกรปลูกข้าว อธิบดีกรมการข้าวเผยมาเลย์เคยขอใช้ที่ดินใน 3 จว.ใต้ปลูกข้าว ชี้เสี่ยงต่อความมั่นคง ระบุแจ้ง"ดีเอสไอ"ช่วยตรวจสอบจีน-มาเลเซีย ร่วมทุนโรงสีรับซื้อข้าวส่งกลับปท. หวั่นแอบขนพันธุ์ข้าวออกไปด้วย พณ.เผยพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวระบุสงวนเป็นของคนไทย
"ธีระ"ค้านตปท.ลงทุนจ้างเกษตรกรปลูกข้าว ด้านอธิบดีกรมการข้าวเผยมาเลย์เคยขอใช้ที่ดินใน 3 จว.ใต้ปลูกข้าว ชี้เสี่ยงต่อความมั่นคง ระบุแจ้ง"ดีเอสไอ"ช่วยตรวจสอบจีน-มาเลเซีย ร่วมทุนโรงสีรับซื้อข้าวส่งกลับปท. หวั่นแอบขนพันธุ์ข้าวออกไปด้วย พณ.เผยพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวระบุสงวนเป็นของคนไทย |
. |
. |
จากกรณีกลุ่มประเทศคณะมนตรีความมั่นคงอ่าวอาหรับ (จีจีซี) 6 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดีอาระเบีย สนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์และทำนาในไทย |
. |
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ว่า ไม่เห็นด้วยหากต่างชาติจะมาลงทุนเช่าที่ดินและจ้างชาวนาไทยปลูกข้าว แต่หากเข้ามาทำธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร ก็พอมีทางเป็นไปได้ |
. |
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผย "มติชน" ว่า ที่ต่างประเทศขอลงทุนปลูกข้าวในไทยเคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตเรื่องอาหาร ทุกประเทศจึงพยายามหาแหล่งผลิตอาหารใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชากรในประเทศของตนเอง หรือบางประเทศที่มีเงินทุนมากก็มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวชั้นดี ทำให้ประเทศเหล่านี้สนใจที่จะเข้ามาลงทุน |
. |
ส่วนการติดต่อเข้ามาลงทุนของกลุ่มจีซีซีนั้น นายประเสริฐกล่าวว่า คงต้องดูรายละเอียดว่า เป็นรูปแบบใด ถ้าเข้ามาตั้งบริษัทซื้อที่ดินทำธุรกิจปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรไทยเป็นลูกจ้าง คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะมีกฎหมายควบคุมการทำธุรกิจของคนต่างด้าวอยู่ และกรมการข้าวจะคัดค้านอย่างเต็มที่ |
. |
"การติดต่อขอเข้ามาลงทุนเรื่องข้าวในไทย ไม่ได้มีแค่ประเทศแถบตะวันออกกลางเท่านั้น ผมเองก็เคยได้รับการติดต่อจากมาเลเซีย ขอใช้พื้นที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเพาะปลูกข้าวเหมือนกัน โดยแจ้งเรื่องให้ผู้ใหญ่รับทราบไปแล้ว แต่ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความมั่นคง" นายประเสริฐกล่าว |
. |
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีนักธุรกิจชาวต่างชาติหลายรายเริ่มเข้ามาลงทุนแล้ว ในลักษณะรับซื้อข้าว เบื้องต้นพบว่ามี 2 ประเทศ คือมาเลเซียและจีน ร่วมทุนกับโรงสีบางรายใน จ.เพชรบุรี และ อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา โดยเข้าไปรับซื้อข้าวจากโรงสีโดยตรง แล้วส่งออกไปประเทศของตนเองโดยใช้เส้นทางรถยนต์ แต่กรมการข้าวแจ้งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ช่วยตรวจสอบแล้ว เพราะเป็นห่วงเรื่องของพันธุ์ข้าวไทย ที่อาจถูกลักลอบนำออกไปนอกประเทศ |
. |
"ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯยกร่างกฎหมายคุ้มครองรักษาพื้นที่ทางการเกษตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อคุ้มครองการทำอาชีพเกษตรกรรมให้กับคนไทย หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ น่าจะช่วยป้องกันการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านเกษตรกรรมของชาวต่างชาติได้ในระดับหนึ่ง" นายประเสริฐกล่าว |
. |
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้รับการติดต่อจากประเทศคูเวตและอิหร่าน ที่จะเข้ามาทำธุรกิจสินค้าฮาลาล แต่รูปแบบที่หารือเบื้องต้น เป็นเพียงการเข้ามาติดต่อรับซื้อสินค้าเท่านั้น ไม่ใช่เข้ามาลงทุนตั้งบริษัททำธุรกิจเอง โดยส่วนตัวก็เห็นด้วย เพราะจะช่วยขยายตลาดรองรับสินค้าฮาลาลของไทยมากขึ้น แต่ยังไม่ได้ตกลงกันอย่างเป็นทางการ |
. |
นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ระบุไว้ชัดเจนว่าต่างชาติไม่สามารถเข้ามาลงทุนทำธุรกิจทำนา และเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยได้ โดยธุรกิจดังกล่าวระบุไว้ในบัญชี 1 เป็นธุรกิจสงวนไว้สำหรับคนไทย ถ้าต่างชาติต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้ประเทศตนเอง ไม่จำเป็นต้องมาทำเอง ซื้อจากเราก็ได้ เราพร้อมขายให้ |
. |
นายคณิสสรกล่าวว่า แม้กฎหมายจะห้ามคนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจทำนาและเลี้ยงสัตว์ แต่หากร่วมกับคนไทย โดยเข้ามาถือหุ้นไม่เกิน 49.99% ก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ว่าหากต่างชาติถือหุ้นไม่เกินที่กำหนดก็ถือว่าธุรกิจนั้นๆ ยังเป็นธุรกิจของคนไทย ทำธุรกิจอะไรก็ได้ แต่ทางกรมต้องจับตาดู เพราะอาจมีต่างชาติอาศัยช่องตรงนี้ใช้คนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) แล้วเข้ามาทำธุรกิจ และถ้าในอนาคตต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในลักษณะดังกล่าวกันมาก และเกรงว่าจะกระทบภาคเกษตรของไทย ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะแก้ไขกฎหมายเพิ่มหรือไม่ |
. |
นายคณิสสรกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้ตรวจสอบของบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้น ซึ่งมีกว่า 6 หมื่นบริษัท โดยเน้นบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 40-49.99% เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่พบว่ามีการเข้ามาลงทุนทำนาหรือเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ กรมยังร่วมกับกรมที่ดิน และดีเอสไอ ตรวจสอบบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นและถือครองที่ดิน พบว่ามีประมาณ 1,500 ราย โดยลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว 300 ราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่อยู่อาศัย บ้านพัก และคอนโดมิเนียม |
. |
นายสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กล่าวว่า เครือซีพีและธนาคารอัล ซาลาม แห่งบาห์เรน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เป็นพันธมิตรลงทุนธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ประกอบด้วยสัตว์บก สัตว์น้ำ และพืชผักผลไม้ โดยจะตั้งบริษัทผลิตอาหารฮาลาล ซึ่งทางซีพีจะสนับสนุนด้านบริหารจัดการ ส่วนธนาคารบาห์เรนจะสนับสนุนด้านการเงิน สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นจะศึกษากันอีกครั้ง |
. |
นายสารสินกล่าวว่า จะส่งเสริมให้บาห์เรนเป็นศูนย์กลางฮาลาลในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa : MENA) มีสมาชิก 20 ประเทศ เช่น แอลจีเรีย บาห์เรน คูเวต กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย โอมาน อาจตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่บาห์เรน ส่วนแหล่งวัตถุดิบจะมาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งไทย |
. |
"การร่วมลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรและประเทศได้ประโยชน์ รวมทั้งยังสนับสนุนสถานะไทยให้เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกหรือครัวของโลกอีกด้วย แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับข่าวที่ 6 ประเทศตะวันออกกลางสนใจมาลงทุนทำนาในเมืองไทย เรื่องอะไรเขาจะมาลำบาก เพราะประเทศกลุ่มนี้ไม่ถนัดเรื่องเกษตรกรรม" นายสารสินกล่าว |
. |
เมื่อช่วงเช้า ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูรูปแบบการลงทุนก่อน ความจริงรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ถ้าต่างประเทศอยากจะซื้อสินค้าเกษตรของไทยก็ยินดีอยู่แล้ว เหมือนกับที่ตนไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีการลงทุนแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลสนับสนุน |
. |
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นการเข้ามาทำนาในไทย ทำได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังให้ผู้เกี่ยวข้องดูรูปแบบอยู่ หากเข้ามาลงทุนสนับสนุนด้านเทคโนโลยี หรือแปรรูปสินค้าเกษตร หรือทำสัญญาซื้อสินค้าเกษตร อย่างนี้ทำได้ เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการให้ต่างประเทศเช่าที่ดินเพื่อทำนาใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เรื่องที่ดินก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเรา |
. |
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ |