เนื้อหาวันที่ : 2009-06-15 12:19:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1385 views

คลัง แจงความจำเป็นออกกม.กู้เงิน มั่นใจพลิก GDP เป็นบวกปี 53

กรณ์ รมว.คลัง แจงความจำเป็นของการออกกฏหมายกู้เงินต่อสภาฯ ชี้ทำให้รัฐบาลอภิประชานิยมมีเงินพอสำหรับใช้สนองนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยัน "แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" จะทำให้ GDP เป็นบวกตั้งแต่ปี '53

นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายการกู้เงิน 2 ฉบับของรัฐบาล วงเงินรวม 8 แสนล้านบาท ทั้ง พ.ร.ก.และ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ

.

โดยยืนยันถึงประโยชน์และความจำเป็นของการออกกฎหมายดังกล่าวว่าจะทำให้รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และจัดทำบริการสาธารณะของรัฐได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะทำให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพในระยะยาว

.

พร้อมเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตาม"แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" ที่จะใช้เงินกู้ภายใต้กรอบของกฎหมายดังกล่าวนี้จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(GDP)พลิกกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ปี 53 และอัตราการขยายตัวจะทยอยเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นไป

.

รมว.คลัง กล่าวว่า การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรปส่งผลต่อประเทศคู่ค้าของไทยหลายประเทศ และส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยตามมา เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการในสัดส่วนที่สูงมากถึง 70% ของ GDP ดังจะเห็นได้จากการส่งออกของไทยที่เริ่มติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 51 จนถึงปัจจุบัน 

.

นอกจากเศรษฐกิจไทยจะถูกซ้ำเติมจากปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน จึงทำให้เศรษฐกิจของไทยประสบภาวะตกต่ำที่รุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยเห็นได้จากภาคธุรกิจที่ทยอยปิดกิจการมากถึง 1.2 หมื่นราย การว่างงานสูงถึง 7.1 แสนคนในปัจจุบัน                           

.

ส่งผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคในภาคเอกชนลดลงอย่างมาก หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะยิ่งทำให้กำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนยิ่งหดตัวลงมากขึ้น ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีจะส่งผลต่อเนื่องไปทุกภาคส่วน เช่น หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินสูงขึ้น, รายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลง 

.

นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ ดังจะเห็นได้จาก GDP ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4/51 ซึ่งหดตัว 4.2% และไตรมาส 1/52 หดตัว 7.2% ขณะที่คาดการณ์ว่าสิ้นปีงบประมาณ 52 รายได้ที่ภาครัฐจัดเก็บได้จะต่ำกว่าประมาณการราว 2.8 แสนล้านบาท 

.

 แม้รัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อช่วยแก้ปัญหาในภาคต่างๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์, มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ, มาตรการเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง, มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก, มาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน,มาตรการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 52 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้   

.

เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งยังเกิดปัจจัยปัญหาอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น การชุมนุมขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียนที่เมืองพัทยา ต่อเนื่องไปถึงการชุมนุมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การแพร่ระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหยุดชะงักลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวถึง 4-5% หรือทำให้รายได้ประชาชาติลดลงประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท 

.

รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนไม่อยู่ฐานะที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องรีบดำเนินมาตรการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาทันทีก่อนที่ปัญหาเศรษฐกิจจะลุกลามใหญ่โตไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยจะต้องสวมบทบาทหลักในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ด้วยการจัดทำโครงการของภาครัฐ เพื่อให้มีการกระจายเงินจากภาครัฐลงไปในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการในปริมาณที่มากเพียงพอ เพื่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่ในภาวะปกติโดยเร็วที่สุด 

.

รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการไทยเข้มแข็งเพื่อดำเนินการในปี 52-55 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการซึ่งเน้นการลงทุนที่สำคัญและจำเป็น เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพิ่มการกระจายการลงทุนด้านบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานสู่ชนบท โดยจะเน้นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการได้ทันทีในระยะ 3 ปีข้างหน้า กว่า 6,000 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท 

.

"หากสามารถทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้แล้ว รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในประมาณ 1.5% ต่อปี และจะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนคน" รมว.คลัง กล่าว     

.

อนึ่ง การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณา พ.ร.ก. และ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจไว้ 2 วัน คือ 15-16 มิ.ย. และหลังจากนั้นจะเป็นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 53