เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรกหดตัวลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.2% ต่อปี คาดไตรมาส 2 ขยายตัวได้อุปสงค์จากจีนช่วยกระตุ้นส่งออก เอกชนยังหวั่นเศรษฐกิจไม่ฟื้น
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกหดตัวลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.2% ต่อปี เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนซบเซา |
. |
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ลดลงในไตรมาสที่แล้วยังอยู่ในระดับที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ในเดือนที่ผ่านมาว่า จะหดตัว 15.2% ขณะที่เศรษฐกิจเมื่อไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วที่มีการทบทวนแล้วนั้น ลดลง 13.5% จากระดับ 14.4% |
. |
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ในไตรมาส 2 เนื่องจากอุปสงค์จากจีนจะช่วยกระตุ้นเสถียรภาพด้านการส่งออก และผู้ผลิตก็เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของบริษัทเอกชนยังคงลดลง ขณะที่หลายบริษัทลดสัดส่วนการลงทุนและการจ้างงาน เพราะไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง |
. |
ฮิโรมิชิ ชิรากาว่า นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส กรุ๊ป เอจีในโตเกียว กล่าวกับทางบลูมเบิร์กว่า "เราจะเห็นว่าภาคการส่งออกกระเตื้องขึ้น รวมถึงภาคการผลิตและชั่วโมงการทำงาน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีใครมั่นใจได้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป" |
. |
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับทบทวนตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆได้ปรับลดการใช้จ่ายเงินทุนลง 25.4% ในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งเป็นระดับที่ดิ่งลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2498 ขณะที่รายงานผลกำไรลดลง 69% |
. |
อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมีสัญญาณให้เห็นถึงสถานการณ์ที่คลี่คลายลง โดยผู้ผลิตของญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวในจีนซึ่งรัฐบาลได้ใช้จ่ายเงิน 5.86 แสนล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ขณะที่การส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้นในเดือนมี.ค.และเม.ย.เมื่อเทียบเป็นรายเดือน |
. |
นายกรัฐมนตรีทาโร่ อาโสะของญี่ปุ่นก็ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่รวมถึงการค้ำประกันเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงการจ่ายเงินให้ภาคครัวเรือนและออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ซื้อรถและเครื่องใช้ต่างๆก็เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว |