เนื้อหาวันที่ : 2009-06-10 09:51:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4166 views

บางคล้าฮือปิดถนนต้านโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ

ชาวบางคล้าลุกฮือรวมตัวกันปิดถนนค้านสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ จี้ ผวจ.ฉะเชิงเทราสั่งพนักงานสยามเอเนอยี่หยุดตรวจสอบคุณภาพชั้นดินในแปลงนาในพื้นที่โครงการก่อสร้าง

.

ชาวบ้าน ตำบลสาวชะโงก ตำบลบางสวน ตำบลเสม็ดเหนือและตำบลเสม็ดใต้ ประมาณ 500 คน รวมตัวกันปิดถนนฝั่งขาเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทรา ที่บริเวณถนนสาย 304  กม. 11-12(ฉะเชิงเทรา –พนมสารคาม)  หมู่ที่  4  ตำบลเสม็ดใต้  อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

.

เรียกร้องให้นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล   ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา  สั่งให้พนักงานของบริษัท สยามเอเนอยี่ จำกัด ประมาณ 10 คน  ระงับการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของชั้นดินในแปลงนาอันเป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซที่อยู่ห่างไปจากถนนประมาณ 300 เมตร

.

นายสุขสันต์  วนะภูติ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา  พร้อมด้วยนายจุมพล  ม่วงทอง  นายอำเภอบางคล้า  และนายธีระ  พรชูตรง  ป้องกันจังหวัด  ได้เดินทางไปดูแลและอำนวยความสะดวกการชุมนุมประท้วง  และเจรจาขอร้องให้เปิดเส้นทางให้รถยนต์ผ่านไปมาได้  แต่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยังคงปิดถนนทั้ง  2  ฝั่งทั้งขาเข้าและขาออกต่อไป

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมประท้วงเริ่มบานปลายเมื่อมีชาวบ้าน จำนวนหนึ่งลุกฮือไปปิดถนนฝั่งขาออก ทำให้การจราจรติดขัดเป็นระยะทางยาวทั้งสองฝั่งกว่า 10 กิโลเมตร โดยมีการโต้เถียงกันระหว่างแกนนำของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างกลุ่มหนึ่ง ต้องการปิดถนนทั่งสองฝั่งอีกฝ่ายหนึ่งต้องการปิดเพียงฝั่งเดียว

.

ในที่สุดก็ยอมปิดถนนฝั่งขาเข้าเพียงฝั่งเดียว ขณะเดียวกันตำรวจจากสภ.บางคล้า ตำรวจทางหลวงบางปะกง ต้องระดมกำลังตั้งจุดบอกเส้นทางและอำนวยความสะดวกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนนเลี่ยงไปทางอำเภอแปลงยาว หรืออำเภอบางน้ำเปรี้ยวแทน

.

นายวรรณา  รอดพิทักษ์  สมาชิก อบจ.เขตอำเภอบางคล้า แกนนำชาวบ้านบอกว่า หลังจากที่บริษัทหยุดการดำเนินกิจกรรมมาเป็นระยะเวลา 11 เดือน ตามมติของคณะกรรมการไตรภาคีที่มีตัวแทนฝ่ายบริษัท ฝ่ายราชการและภาคประชาชน แต่ขณะนี้ ตัวแทนบริษัทและตัวแทนภาคประชาชนขอถอนตัวออกจากคณะกรรมการไตรภาคีแล้ว จึงยุติบทบาทของกรรมการ

.

แต่ต่อมาบริษัทยังเข้าไปดำเนินการเพื่อตรวจสอบคุณภาพดิน ทั้งที่ยังไม่ผ่านการทำ อี ไอ เอ หรือทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน และความเห็นของชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเพราะจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

.

การคัดค้านชุมนุมประท้วงจึงยังต้องมีต่อไป และเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงมาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมาแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามหากไม่มีการสั่งการยุติก็จะชุมนุมประท้วงอย่างยืดเยื้อต่อไป

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท