ครม.ญี่ปุ่นเผย ยอดสั่งซื้อเครื่องจักร ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดการลงทุนในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ดิ่งลง 5.4% เหตุความต้องการทั่วโลกซบเซา
ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นในเดือนเม.ย.ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 22 ปี หลังภาคเอกชนรายงานผลกำไรที่ลดลงซึ่งกดดันให้บริษัทต่างๆปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรง |
. |
คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักร ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดการลงทุนในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ดิ่งลง 5.4% มาอยู่ที่ 6.888 แสนล้านเยน (70.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2530 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเพียง 0.6% |
. |
อุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซาได้สร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 1 ใน 3 จากระดับสูงสุดของปีที่แล้ว ขณะเดียวกันผลกำไรที่ตกต่ำก็ส่งผลกระทบให้บริษัทชะลอการลงทุนในภาคโรงงานและเครื่องมือเครื่องจักร รวมถึงการใช้จ่ายที่มีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว |
. |
ฮิโรอากิ มูโตะ นักวิเคราะห์จากซูมิโตโมะ มิตซุย แอสเสท เมเนจเมนท์ โค ในโตเกียว กล่าวกับทางบลูมเบิร์กว่า "บริษัทต่างๆยังไม่ต้องการที่จะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนมากกขึ้น เพราะอุปสงค์ยังฟื้นตัวได้ช้า เศรษฐกิจอาจกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาสนี้ แต่ก็จะเป็นไปได้เพียงชั่วคราวเพราะการลงทุนและการใช้จ่ายผู้บริโภคยังไม่ค่อยฟื้นตัวมากนัก" |
. |
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 09:36 น.ตามเวลาโตเกียว เงินเยนซื้อขายกันที่ 97.31 ดอลลาร์/เยน จากระดับ 97.46 ดอลลาร์/เยน ขณะที่หุ้นกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรแกว่งตัวผันผวนในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นโตเกียว |
. |
อย่างไรก็ตาม รายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยเมื่อเดือนที่ผ่านมาส่งสัญญาณให้เห็นว่า ตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นอาจกระเตื้องขึ้นในไตรมาสนี้หลังจากที่ดิ่งหนักเป็นประวัติการณ์ 15.2% ในช่วงไตรมาสแรก ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ผลิตของญี่ปุ่นจะได้รับผลดีจากอุปสงค์ในจีนที่ขยายตัวดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลจีนใช้จ่ายเงิน 5.86 แสนล้านดอลลาร์ในโครงการก่อสร้างถนน โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ขณะที่ภาคการส่งออกและภาคการผลิตขยายตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง 2 เดือน |