เนื้อหาวันที่ : 2009-06-08 16:35:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1218 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯเชื่อไทยยังเป็นฐานผลิตรถโลกแนะเสริมจุดแข็งรับมือแข่งขันสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อประเทศไทยจะยังคงรักษาสถานะในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคของค่ายรถชั้นนำของโลก แม้สภาพเศรษฐกิจโลกถดถอยฉุดยอดขายรถทั่วโลก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าท่ามกลางกระแสการปรับโครงสร้างการผลิตของบริษัทรถยนต์หลายแห่งในโลก ประเทศไทยจะยังคงรักษาสถานะในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคของค่ายรถชั้นนำของโลก แม้สภาพเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ให้ตกต่ำเกือบทั่วโลก และทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์โลกต้องปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับการหดตัวดังกล่าว         

.

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะยังคงได้รับความสนใจจากบริษัทรถยนต์โลก แต่อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่นในภูมิภาคของเอเชีย พบว่าการลงทุนในไทยลดลง 38.5% ในปี 51 ขณะที่การลงทุนในจีน, อินเดีย และ เวียดนามเพิ่มขึ้น

.

และคาดว่าการลงทุนจะลดลงต่อเนื่องในปี 52 ซึ่งถ้าพิจารณาตัวเลขมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งช่วง 4 เดือนแรกของปี 52 พบว่าลดลงจากปีก่อนถึงประมาณ 44.8%        

.

"จากสภาวะการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและหาแนวทางเสริมสร้างความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตให้กับประเทศเพื่อนบ้านไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ 

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลหรือผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นจะต้องเร่งทำ คือ การพยายามเสริมจุดแข็งของไทยในด้านต่างๆทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรและศักยภาพของอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสำหรับการผลิตรถยนต์อนาคตที่มีมาตรฐานสูงและเน้นการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทางเลือกเป็นหลัก เพื่อชดเชยกับค่าจ้างแรงงานและต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ที่อาจจะสูงกว่า รวมถึงรักษาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

.

ขณะเดียวกันก็ต้องลบจุดอ่อนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองในแต่ละครั้งได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนลงไป รวมไปถึงการสร้างความชัดเจนในการดำเนินนโยบายร่วมกันในระยะยาวระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และทิศทางการพัฒนาพลังงาน

.

นอกจากนี้ก็ควรหาโอกาสให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดความน่าสนใจในการลงทุน อำนวยความสะดวกในการดำเนินการลงทุนผลิตของภาคธุรกิจ และร่วมกันหาตลาดศักยภาพใหม่ๆพร้อมทั้งการสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าเสรีในประเทศที่ไทยมีศักยภาพการแข่งขัน เป็นต้น คาดว่าจะช่วยทำให้การมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยแม้จะหดตัวลงไปบ้างอย่างในภาวะปัจจุบันตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย แต่ก็จะยังคงมีความน่าสนใจต่อเนื่อง 

.

นอกเหนือจากการเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนข้างต้นแล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกประการที่รัฐไม่ควรมองข้าม คือ การที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในส่วนที่ช่วยได้ เพื่อให้กิจการของบริษัทนักลงทุนสามารถฝ่าวิกฤตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในอนาคต เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาวสำหรับนักลงทุนในการเป็นประเทศเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนต่อเนื่องไปในอนาคต