เนื้อหาวันที่ : 2006-10-26 12:54:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7620 views

มือถือมหาประลัย

ปัจจุบันจำนวนของคนใช้โทรศัพท์มือถือมีไม่ใช่น้อย แถมยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ ในขณะที่การควบคุมดูแลในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ก็ดูจะหย่อนยานมาก แถมเมื่อเกิดเหตุอันตรายร้ายแรงแบบนี้ขึ้น ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริง ตลอดจนผู้รับผิดชอบได้ แล้วทีนี้ผู้บริโภคตาดำ ๆ อย่างเรา จะหันหน้าไปพึ่งพาใครได้ นอกจากจะต้องเพิ่มความระมัดระวังทั้งในแง่การเลือกซื้อ การใช้งาน การส่งซ่อมและดูแลเครื่องให้ถูกต้อง ถูกวิธี และปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง

ในช่วงไม่นานมานี้ ข่าวที่ได้รับความสนใจและกล่าวถึงกันมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็น Talk of the Town ทั้งทางหน้าจอทีวีและในหน้าหนังสือพิมพ์ เห็นจะไม่พ้นเรื่องโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาชายคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ดี ๆ ก็กลายสภาพจากอุปกรณ์สื่อสาร มาเป็นระเบิดลูกย่อม ๆ ไปซะนี่ แต่โชคดีที่ผู้ใช้งานไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากมาย เพราะตัดสินใจโยนเจ้ามือถือมหาประลัยทิ้งได้ทันแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ก็ถือว่าผู้ประสบเหตุครั้งนี้ยังโชคดีอยู่หลายประการ เป็นต้นว่า หนึ่ง เพราะตัวเครื่องยังอยู่ในมือ เขาจึงสามารถสัมผัสได้ถึงความร้อนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ สอง เพราะมีประกายไฟและควันออกมาจากตัวเครื่อง จึงทำให้ตัดสินใจโยนทิ้งได้อย่างทันท่วงที และสาม บริเวณที่โยนเครื่องออกไปเป็นที่โล่งแจ้ง ซึ่งไม่มีทั้งสารไหม้ไฟ หรือสารไวไฟวางอยู่ หาไม่แล้ว ไม่อยากจะคิดเลยว่าเหตุการณ์นี้จะเลวร้ายหรือรุนแรงได้ขนาดไหน

.

.

จะว่าไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของข่าวทำนองนี้ จำได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เคยเกิดเหตุการณ์มือถือระเบิดในกระเป๋าสะพายของผู้ใช้งาน ขณะนั่งอยู่ในร้านอาหาร ซึ่งก็ยังโชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บรุนแรงเช่นกัน และสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างของเหตุการณ์มือถือระเบิดทั้งสองครั้ง ก็คือจับมือใครดมไม่ได้เรียกว่างานนี้ไม่มีเจ้าภาพ หรือหาคนรับผิดชอบไม่ได้นั่นแหละ

.

ได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึกหนาวขึ้นมาซะเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในหน้าร้อนเมืองไทย แถมเป็นในกรุงเทพ ฯ เสียด้วย เพราะก็เป็นที่รู้กันนั่นละว่า ปัจจุบันจำนวนของคนใช้โทรศัพท์มือถือมีไม่ใช่น้อย แถมยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ ในขณะที่การควบคุมดูแลในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ก็ดูจะหย่อนยานมาก แถมเมื่อเกิดเหตุอันตรายร้ายแรงแบบนี้ขึ้น ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริง ตลอดจนผู้รับผิดชอบได้ แล้วทีนี้ผู้บริโภคตาดำ ๆ อย่างเรา จะหันหน้าไปพึ่งพาใครได้ นอกจากจะต้องเพิ่มความระมัดระวังทั้งในแง่การเลือกซื้อ การใช้งาน การส่งซ่อมและดูแลเครื่องให้ถูกต้อง ถูกวิธี และปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง

.
เลือกซื้อมือถือและอุปกรณ์อย่างไรไม่ให้ถูกโกง

หากคุณกำลังจะตัดสินใจซื้อมือถือเครื่องใหม่อยู่ละก็ ข้อแนะนำที่ดีที่สุดก็คือควรซื้อมือถือและอุปกรณ์ในศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อเท่านั้น และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการสังเกตดูจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้

.

1. IMEI กรณีเครื่องใหม่ ควรตรวจสอบดูว่าเจ้าเครื่องใหม่ที่ว่าเป็นเครื่องใหม่จริง หรือถูกทางร้านเอามาย้อมแมวขาย เพราะทุกวันนี้ IMEI เป็นเรื่องเสรีแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเพื่อให้เครื่องใช้ได้กับทุกระบบ ฉะนั้นทุกครั้งที่ซื้อเครื่องใหม่ควรตรวจดู IMEI ในตัวเครื่อง ให้ตรงกับฝาหลังและกล่องด้วย โดยการกด *#06# ที่เครื่องโทรศัพท์ สำหรับโทรศัพท์บางรุ่น เช่น ของ MOTOROLA จะแสดง Lifetime Timer ที่ไม่สามารถลบออกได้ นั่นหมายความว่าเราสามารถตรวจสอบได้ว่า เครื่องเคยผ่านการใช้งานมาก่อนหรือเปล่า หรือสำหรับ NOKIA การเรียกดูวันที่ Update Software ก็มีประโยชน์เช่นเดียวกับการดู Lifetime เพราะเราสามารถเปรียบเทียบได้ว่า เครื่องมีการ Update Software มาเมื่อไร

.

2. แบตเตอรี่ สามารถสังเกตได้โดยดูที่ขั้วแบตเตอรี่ว่ามีร่องรอยการใช้งานมาแล้วหรือไม่ ซึ่งหากผ่านการใช้งานมาแล้ว จะเกิดรอยที่บริเวณขั้ว ซึ่งรอยนี้จะไม่สามารถทำความสะอาดหรือลบออกได้

.

3. แท่นชาร์จหรือสายชาร์จ อุปกรณ์เสริมอีกหนึ่งชิ้นที่สำคัญ เราจึงควรสังเกตดูให้มั่นใจว่าเป็นของใหม่ ของแท้หรือไม่ โดยตรวจดูว่ามีสติกเกอร์ที่แสดงการรับประกัน หรือ Warranty Sticker จากทางศูนย์บริการของยี่ห้อนั้น ๆ หรือเปล่า

.

4. สติกเกอร์รับประกันหรือ Warranty Sticker ถ้ามือถือนั้นเป็นเครื่องแท้จากศูนย์บริการ สติกเกอร์รับประกันซึ่งติดอยู่บริเวณหลังเครื่องจะต้องอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการถูกแกะ

.

5. คีย์แพด ในกรณีที่เครื่องรุ่นนั้นสามารถถอดเปลี่ยนหน้ากากได้ ให้ถอดหน้ากากออก และสังเกตดูว่ามีรอยช้ำที่บริเวณแผงคีย์แพด หรือมีเศษฝุ่นติดอยู่ในบริเวณช่องว่างระหว่างปุ่มกดต่าง ๆ หรือไม่

.

6. หน้าจอ ลองพลิกหน้าจอแสดงผลดู ทั้งซ้ายและขวา โดยให้กระทบกับแสงและสังเกตดูว่ามีรอยขีดข่วนต่าง ๆ หรือไม่ โดยควรจะตรวจดูให้ละเอียดในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพราะในกรณีที่แสงสว่างไม่พอ จะสังเกตเห็นร่องรอยขีดข่วนได้ไม่ชัด โดยเฉพาะกับเครื่องที่สามารถถอดเปลี่ยนหน้ากากได้ ควรถอดหน้ากากออกก่อน แล้วค่อยสังเกตดูอย่างละเอียด

.
การใช้และชาร์จแบตเตอรี่มือถืออย่างถูกวิธี

1. การใช้งานแบตเตอรี่แต่ละครั้ง (Cycle) ควรใช้ให้หมดจนกระทั่งอยู่ในภาวะ Low Batt หรือเกือบ Low Batt จริงอยู่ ที่ว่าแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนและไฮดรายไม่มี Memory Effect และเราจะชาร์จเมื่อใหร่ก็ได้  แต่แบตเตอรี่ชนิดนี้ก็มีการกำหนดอายุการใช้งานด้วยจำนวน Cycle ของการใช้งาน ดังนั้นหากใช้แบตเตอรี่ไม่หมดแล้วนำไปชาร์จบ่อย ๆ ก็จะทำให้จำนวน Cycle ถึงกำหนดเร็วขึ้น ซึ่งโดยปกติอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ชนิดลิเธียมไอออนจะอยู่ที่ราว 350-500 Cycle ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ Spec ของผู้ผลิตแต่ละราย รวมถึงสภาพแวดล้อมในการใช้งานและความชื้นด้วย

.

2. ในกรณีที่มีแท่นชาร์จ ควรถอดแบตมาชาร์จที่แท่นต่างหาก ไม่ควรชาร์จโดยคาแบตเตอรี่ไว้ในโทรศัพท์มือถือ (ทั้งการนำโทรศัพท์มาชาร์จแท่นด้านหน้า หรือใช้สายชาร์จแบบ Travel Charge) ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการชาร์จแบตเตอรี่แบบเสียบผ่านมือถือไม่ดี หากแต่การชาร์จแบตเตอรี่ต่างหากบนแท่นชาร์จ จะเป็นการชาร์จช้าหรือ Slow Charge ซึ่งจะถนอมแบตเตอรี่มากกว่าการชาร์จเร็วหรือ Quick Charge แบบการชาร์จผ่านโทรศัพท์มือถือ

.

3. ระวังอย่าให้แบตเตอรี่เปียกน้ำ เพราะอาจทำให้ปฏิกิริยาเคมีภายในแบตเตอรี่เสียหาย ยิ่งในกรณีแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมด้วยแล้ว อาจจะทำให้อุปกรณ์ป้องกันภายใน (Protection Circuit) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เสียหายไปด้วย ซึ่งจะมีผลให้การจ่ายกระแสผิดปกติได้

.

4. ไม่ควรใช้งานหรือวางแบตเตอรี่ไว้ใกล้ ๆ ความร้อน เช่นเปลวไฟ เครื่องกำเนิดความร้อนต่าง ๆ รวมถึงบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง เช่นด้านหน้ารถยนต์เป็นต้น เพราะความร้อนจะมีผลให้ตัวคั่นอิเล็กโทรด (Separator) เสียหายจนเกิดการลัดวงจรภายในได้

.

5. ใช้เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ให้ถูกชนิด เช่น ในการชาร์จแบตเตอรี่ลิเธียม จะต้องแน่ใจว่าเครื่องชาร์จสามารถชาร์จแบตเตอรี่ชนิดนี้ได้ ซึ่งต้องเป็นกระบวนการชาร์จแบบ CCCV (Constant Current Constant Voltage) เท่านั้น เป็นต้น

.

6. ต้องระวังไม่ให้ขั้วบวกและลบของแบตเตอรี่ลัดวงจรหรือช็อตกันเด็ดขาด และหากใส่แบตเตอรี่ไว้ในกระเป๋า ก็ควรแน่ใจว่าไม่มีโลหะ เช่น เหรียญ กิ๊บหนีบผม หรือสิ่งที่เป็นโลหะสื่อไฟฟ้าอยู่ใกล้ เพราะจะทำให้ลัดวงจรได้

.

7. สำหรับแบตเตอรี่ที่มีพลาสติกป้องกัน เช่น StarTAC ควรใส่ครอบแบตเตอรี่ไว้ทุกครั้งที่ยังไม่ได้ใช้งาน

.

8. ระวังอย่าให้แบตเตอรี่ตกหล่นหรือกระทบกระเทือนมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งจะมีผลให้อุปกรณ์ป้องกัน ภายในแบตเตอรี่เสียหาย และทำให้เกิดการชาร์จหรือจ่ายกระแสผิดปกติได้

.

9. แบตเตอรี่ที่ไม่ได้ใช้นาน ๆ ควรเอาออกมาจากโทรศัพท์แล้วเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น เพราะอาจเกิดคราบออกไซด์ที่ขั้วได้ง่าย

.

10. ในกรณีที่ขั้วแบตเตอรี่สกปรก ให้ทำความสะอาดด้วยผ้าแห้งหรือยางลบถู แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ด ซึ่งการที่ขั้วแบตเตอรี่สกปรกอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความชื้น การใช้แบตเตอรี่เพียงก้อนเดียวคาเครื่องไว้ตลอด เวลาชาร์จก็ใช้สายชาร์จต่อเข้ากับมือถือ ไม่ได้ถอดออกมาเลย จะทำให้เกิดคราบออกไซด์ได้ง่าย

.
การส่งซ่อม

ถ้ามือถือคุณมีอาการผิดปกติใด ๆ ละก็ เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว ก็ควรจะส่งเข้าไปซ่อมยังศูนย์บริการที่ได้รับแต่งตั้งมาจากเจ้าของยี่ห้อมือถือนั้น ๆ โดยตรง ไม่ว่าจะอยู่ในประกันหรือนอกประกันก็ตาม

.
โทรศัพท์มือถือและสุขภาพของผู้ใช้งาน

เป็นที่ยอมรับกันว่า การแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจมือถือ ทำให้เราติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในราคาที่ถูกลง และใช้งานได้หลากหลายขึ้น โดยมีการรวมเอาคุณสมบัติของอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ กล้อง วิทยุ หรือออกาไนเซอร์มารวมไว้ที่เครื่องเดียว นั่นเป็นข้อดีที่ไม่มีใครเถียง แต่เป็นธรรมดาของทุกสิ่ง เมื่อมีด้านบวก ย่อมมีด้านลบ เหมือนเหรียญที่ย่อมต้องมีสองหน้าเสมอ ทีนี้เรามาลองดูด้านลบหรือข้อเสียของมือถือกันบ้าง เพราะไหน ๆ เราก็ได้ยินได้ฟังแต่เรื่องดี ๆ ของมือถือทั้งจากภาพยนตร์โฆษณาทางจอทีวีและสปอตทางวิทยุกันมาวันละหลายรอบจนเอียนไปตาม ๆ กันแล้ว มาดูข้อเสียแก้เลี่ยนกันบ้างเป็นไร

.

เริ่มจากการใช้มือถือขณะขับรถจะทำให้เสียสมาธิ ขาดความระมัดระวัง ทำให้การขับขี่ไม่มั่นคง เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้สูง มีอัตราเสี่ยงมากพอ ๆ กับเมาเหล้าแล้วขับรถ ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องพูดเยอะ เพราะเป็นเรื่องที่รณรงค์กันมานาน จนเป็นที่รู้ทั่วแล้ว แต่จะทำตามหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

.

ส่วนอีกเรื่องก็คืออันตรายต่อสมองของผู้ใช้งาน ซึ่งมีการถกเถียงกันมานานในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เจ้ามือถือเครื่องน้อย ๆ ของเราปล่อยออกมานั้นมีอันตรายต่อเซลล์สิ่งมีชีวิตจริงหรือไม่ โดยกลุ่มผู้ประกอบการและนักวิจัยหลายกลุ่ม (ที่ได้รับเงินทุนการวิจัยมาจากผู้ประกอบการอีกที) ก็ออกมาแย้งว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มือถือปล่อยออกมา มีความถี่ต่ำ และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จึงไม่น่าทำอันตรายกับใครได้ และจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ในเรื่องนี้

.

ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้ทดลองปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากระบบโทรศัพท์จีเอสเอ็ม ที่ใช้กันแพร่หลายในยุโรป เอเชีย และเอเชียกลาง ให้กับหนูอายุ 12-26 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวัยรุ่นเหมาะสำหรับการเป็นหนูทดลองที่สุด และเป็นแบบจำลองสำหรับสิ่งมีชีวิตใหญ่ ๆ ได้ ผลการทดลองพบว่า สมองของหนูมีรูโหว่

.

แต่องค์การอนามัยโลกและคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐ (FDA) ต่างก็ออกมายืนยันว่า ยังไม่มีเหตุการณ์ใดบ่งชี้ว่าการใช้มือถือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ในขณะที่จุลสารทางการแพทย์ของอเมริกาและอังกฤษออกมาระบุว่า การใช้มือถือติดต่อกันมากกว่า 5 ปี จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งในสมองได้

.

ส่วนในวารสารวงการแพทย์ ปีที่ 7(1) ฉบับที่ 334(7) หน้า 7 เจล แฮนส์สัน ไมลด์ นักวิจัยชาวสวีเดน ได้ทำการศึกษาผลกระทบของการใช้มือถือต่อสุขภาพของชาวสวีเดนและนอร์เวย์ 11,000 คน พบว่า ชาวนอร์เวย์ที่ใช้โทร GSM (ไม่บอกว่าคลื่นอะไร) วันละ 15-20 นาที มีโอกาสที่จะเกิดการเมื่อยล้า 1.6 เท่า ของผู้ที่ใช้น้อยกว่าวันละ 2 นาที และเพิ่มเป็น 4.1 เท่า ถ้าใช้มากกว่า 60 นาที กรณีใช้วันละ 15-60 นาทีมีแนวโน้มจะปวดศีรษะ 2.7 เท่า และเพิ่มเป็น 6.3 เท่าถ้าใช้นานเกินวันละ 60 นาที เขาแนะนำว่าถ้าจะโทรนาน ๆ ให้ใช้โทรศัพท์บ้านหรือใช้ Small Talk หรือ Hand Free จะดีกว่า 

.

ในเว็บไซต์ http://www.health.gov.au/arl/is phone.htm กล่าวว่าช่วงคลื่นที่มีประโยชน์ในงานโทรคมนาคมจะอยู่ในช่วงของ Microwave ซึ่งจะปลดปล่อยพลังงานในรูปคลื่นออกมาทางเสาอากาศ ดังนั้นมือถือที่มีเสาติดอยู่กับตัวเครื่องทั่ว ๆ ไปจึงมีผลต่อร่างกายได้ มีผู้รายงานผลต่อร่างกายไว้ เช่น ปวดศีรษะ เกิดความร้อนในสมองหรือเนื้องอกในสมอง แต่ที่ได้รับการศึกษาและมีผลแน่นอนแล้วคือเกิดความร้อนในสมอง ดังนั้นมือถือทุกเครื่องในออสเตรเลียจึงต้องผ่านมาตรฐานที่ไม่ทำให้เกิดผลนี้ต่อสมองจากหน่วยงาน Austel แต่ผลอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความร้อน เช่น เนื้องอก ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างแน่นอน และคงต้องติดตามผลไปอีกหลายปี อย่างไรก็ดี เขาแนะนำให้ใช้มือถือแบบที่เสาอากาศไม่อยู่ที่เครื่อง เช่น ชนิดติดรถยนต์ หรือ Hand Free ช่วย

.

นักวิจัยของออสเตรเลียยังรายงานในวารสารการแพทย์ว่า แพทย์ของศูนย์แพทย์คอฟิลด์ในรัฐวิกตอเรียรายงานว่า ได้พบผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ แล้วบ่นว่ารู้สึกปวดแสบปวดร้อนหรือปวดตุ๊บ ๆ แถวหู ขมับหรือท้ายทอย (อาการนี้ผู้เขียนก็เคยเป็น) นักวิจัยบอกว่าการตรวจผู้ที่ใช้ โทรศัพท์มือถือ 40 ราย ได้พบ ต้นเหตุที่เป็นไปได้เกี่ยวกับประสาท หรืออาจบอกได้ว่า อาการของพวกเขา ไม่ใช่เป็นเรื่องของอุปาทานแต่อย่างใด แม้จะยังไม่อาจทราบสาเหตุได้แน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่าคงเป็นจากคลื่นโทรศัพท์มือถือไปรบกวนการทำงานของประสาทแถวหนังศีรษะมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้โทรศัพท์นานเกิน 10 นาทีต่อครั้งบ่อย ๆ อาจทำให้มีอาการปวดหัวข้างเดียวอย่างรุนแรง บางคนมีอาการหูอื้อร่วมด้วย

.

เป็นไงบ้าง ? ฟังแล้วเกิดอาการขยาดมือถือกันบ้างไหม ? สำหรับผู้เขียนเอง ตอนนี้ก็กำลังพยายามลดการใช้มือถืออยู่ ไม่ได้ตามกระแสหรอกนะ แต่เมื่อเดือนก่อนมีอาการปวดหัวแถวท้ายทอย แล้วก็วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน แถมด้วยอาการประคองตัวเองไม่อยู่ เลยต้องไปหาหมอ ผลปรากฏว่าเป็นโรค น้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งคุณหมอบอกว่า การใช้มือถือมาก ๆ ก็เป็นปัจจัยประการหนึ่งของโรคนี้ ก็เลยเพลา ๆ การโทรออกอยู่ ประเภทว่ามีมือถือไว้เพื่อรับเพียงอย่างเดียว แล้วก็พยายามคุยสั้น ๆ ด้วย ซึ่งพบว่านอกจากจะมีอาการดีขึ้นแล้ว ยังประหยัดสตางค์ไปได้อีกจมเลยละคุณ !