เนื้อหาวันที่ : 2009-06-07 13:59:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 441 views

กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหนี้พุ่ง39%

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจและรายได้ที่ไม่แน่นอนส่งผลให้ในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 52 ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้สินมากขึ้น สังเกตได้จากสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ไม่รวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่มีอัตราขยายตัว 14.1%

.

ขณะที่ในปีก่อนขยายตัวสูงถึง 16.3% เช่นเดียวกับสถาบันเฉพาะกิจที่ชะลอตัวเหลือเพียง 6% ส่วนปีก่อนขยายตัว 7.8% ขณะที่หนี้คงค้างเฉลี่ยต่อรายของสมาชิกสหกรณ์ในรอบบัญชีสิ้นสุดปี 51 ลดลงจากปี 50 โดยสมาชิกสหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีหนี้คงค้างลดลง 9.9% หรือมีหนี้เฉลี่ย 147,046 บาท ส่วนสมาชิกในภาคการเกษตรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 3.3% หรือมีหนี้เฉลี่ย 10,999 บาท เนื่องจากมีต้นทุนผลิต ที่สูงขึ้น ทำให้ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น 

.

ทั้งนี้ต้องติดตามการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อเงินสดที่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคาร และลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ฐานะการเงินด้อยกว่าลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง  สะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหาเรื่องรายได้และขาดสภาพคล่อง และยังต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้

.

นอกจากนี้จากผลสำรวจของ สศช. ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยพบว่ามีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 39% จากที่ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมีเพียง 37%  และพบว่ามีความสามารถในการชำระหนี้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งผู้มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงด้านภาระหนี้สินเพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนทำให้ต้องกู้เงินจาก นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง จึงมีความเสี่ยงต่อปัญหาการทวงหนี้นอกระบบ และมีหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนของบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มนอนแบงก์ หรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเริ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าปรับหรือค่าธรรม เนียมเพิ่มขึ้น

.

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง อาจมีผลกระทบ ต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยแม้จะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ยังมีผลหวั่นเศรษฐกิจต่างประเทศที่จะมากระทบไทยอยู่ ดังนั้นรัฐบาลต้องหาแนวทางเข้าไปช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เพราะเอกชนยังไม่พร้อมที่จะลงทุน 

.

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้รัฐต้องกระตุ้นให้เกิดดีมานด์ ด้วยการสร้างงานและสร้างรายได้ เพื่อให้ประชาชนเกิด การจับจ่ายใช้สอย โดยเห็นว่าการใช้มาตรการการคลังเป็นสิ่งจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการลดภาษี รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันอยากให้ช่วยดูแลในเรื่องค่าเงินบาท เพราะถ้าค่าเงินบาทอ่อนจะทำให้ผู้ส่งออกมีรายได้มากขึ้น

.

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 52 จะติดลบ 3% หากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพและ  รัฐใช้นโยบายการคลังได้อย่างรวดเร็ว ส่วนระยะปานกลางคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและการลงทุนด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาลจะก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน.

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์