เนื้อหาวันที่ : 2009-06-04 09:09:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2289 views

แรงงานต้านรัฐลดเงินสมทบกองทุนฯ เหลือ 3% ชี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อลูกจ้างจริง

แรงงานอัดนโยบายลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จาก 5% เหลือ 3% ของรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ห่วยไม่ช่วยลูกจ้างจริง ชี้เอื้อประโยชน์นายจ้าง แต่ลูกจ้างยังต้องตกงานเหมือนเดิม

จากกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ให้มีการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างจากฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง เหลือในอัตราฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง โดยรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตรา 2.75% ของค่าจ้างอยู่เช่นเดิม

.

โดยกระทรวงแรงงานได้นำมติดังกล่าวเสนอขอความเห็นนอกรอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ทั้งนี้การลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ประมาณวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 รวม 6 เดือน จากนั้นให้กลับมาใช้ในอัตราเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป

.

ล่าสุด วันที่ 2 มิ.ย. เวลา 10.00น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล (ประตู 4) สภาองค์กรลูกจ้าง 12 แห่ง และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งประกอบด้วยสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าว โดยมีนายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลขานายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้ออกมารับหนังสือ และรับรองว่า ข้อเรียกร้องจากทุกเครือข่ายจะถูกส่งถึงมือนายกฯ

.

ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานระบุว่า การปรับลดเงินเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อสถานประกอบการ ที่นายจ้างมีการจ้างลูกจ้างจำนวนมาก เพราะเป็นการลดภาระในการรับผิดชอบชีวิตลูกจ้างลงจากเดิม ทำให้นายจ้างได้ประหยัดเงินที่จะต้องจ่ายเงินสมทบถึง 2 % ยกตัวอย่างเช่น สถานประกอบการนั้นมีลูกจ้างประมาณ 5,000 คน เฉลี่ยเงินเดือนลูกจ้างคนละ 6,000 บาท

.

เดิมนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนรวม 5,000 คน * 300 บาท = 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาท) ต่อเดือน แต่เมื่อมีมาตรการดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้นายจ้างสมทบเงินกองทุนเหลือเพียง 3 % = 5,000 คน * 180 บาท = 900,000 บาท (เก้าแสนบาท) ต่อเดือน จึงช่วยให้นายจ้างประหยัดเงินสมทบได้ถึงเดือนละ 600,000 บาท (หกแสนบาท) หรือรวม 6 เดือน เท่ากับประหยัดถึง 3,600,000 บาท

.

โดยที่เงินจำนวนดังกล่าวที่นายจ้างไม่ต้องส่งสมทบในช่วง 6 เดือนนี้ จึงช่วยทำให้นายจ้างมีเงินไปใช้หมุนเวียนธุรกิจ หรือไปใช้จ่ายด้านอื่นๆได้มากขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อนายจ้างได้ประโยชน์จากการลดเงินสมทบแล้วไม่ได้หมายความว่า นายจ้างจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง การลดเงินสมทบของนายจ้างเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น และวงเงินไม่ต้องส่งมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเงินลงทุนของสถานประกอบการซึ่งเป็นจำนวนหลักพันล้าน จึงไม่สามารถช่วยลดการเลิกจ้าง หรือลดต้นทุนการผลิตได้

.

นอกจากนี้ การลดเงินสมทบกองทุนยังทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์ในอนาคต เนื่องจากไม่ได้เป็นการแบ่งเบาภาระลูกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะเป็นเพียงการลดเงินสมทบลงเฉลี่ยวันละ 1-10 บาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่จำเป็นต้องใช้บริโภค อุปโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ราคาข้าวสาร ราคาอาหารสด

.

รวมถึงภาษีที่ลูกจ้างต้องจ่ายผ่านการซื้อสินค้าที่ต้องเสียถึงร้อยละ 7 (VAT 7%) เห็นได้ว่าลูกจ้างแทบจะนำเงินที่ไม่ต้องจ่ายสมทบร้อยละ 2 นี้มาซื้อสินค้าหรือนำมาใช้ตามนโยบายการซื้อ-การขายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแทบจะเห็นผลการแบ่งเบาภาระให้ลูกจ้างได้น้อยมาก

.

ยิ่งไปกว่านั้น การปรับลดเงินยังส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้ประกันตนที่จะต้องรับเงินชราภาพตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป โดยจากมาตรการดังกล่าวพบว่าจะทำให้กองทุนประกันสังคมขาดรายได้มากถึง 15,600 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนที่จะรับเงินจากกองทุนชราภาพที่กองทุนจะต้องจ่ายตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

.

มาตรการการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ขึ้นค่าเหมาจ่ายด้านรักษาพยาบาลประจำปี 2552 จากเดิม 1,539 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,861 บาทต่อคนต่อปี ทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลมากขึ้นถึงปีละ 4,000 - 4,500 ล้านบาท

.

และยิ่งมาผนวกรวมกับมาตรการการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ยิ่งทำให้เม็ดเงินหายไปจากกองทุนเพิ่มขึ้นอีก จึงอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนได้ต่อไป ที่มีความเสี่ยงที่เงินจะไม่พอจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในอนาคต นอกจากนี้ ความเสี่ยงยังเพิ่มขึ้นอีก เพราะลูกจ้างยังถูกเลิกจ้างอยู่เช่นเดิม ทำให้กองทุนต้องแบกรับค่าประกันตนของผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอีกกรณีหนึ่งด้วย

.

ดังนั้น เครือข่ายแรงงานจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะจากข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาได้ชี้ให้เห็นชัดว่า ไม่ใช่สถานประกอบการทุกแห่งในกิจการจ้างงานทุกประเภทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ มีเพียงบางกิจการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกต่างประเทศเท่านั้น

.

นอกจากนั้นบางสถานประกอบการได้เลือกใช้สถานการณ์ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นข้ออ้างในการฉวยโอกาสเลิกจ้างงาน ฉะนั้นรัฐบาลควรมีการศึกษา/สำรวจก่อนว่ามีสถานประกอบการใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง แล้วถึงจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้

.

นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องมีมาตรการตรวจสอบการลดชั่วโมงทำงาน หรือการใช้ระบบการจ้างงานเชิงซ้อนหลากหลายรูปแบบ ที่นายจ้างทำเพื่อบีบให้ลูกจ้างลาออก หรือยอมจำนนกับการต้องทำงานในลักษณะรูปแบบการกดขี่ขูดรีดที่เลวร้าย เพราะในปัจจุบันมีสถานประกอบการจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ต้องการรับภาระการจ่ายเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง

.

จึงอาจใช้วิธีการลดชั่วโมงทำงานของลูกจ้าง จนลูกจ้างมีรายได้น้อยและลาออกในที่สุด ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างขาดทั้งสิทธิในการได้รับเงินชดเชย และประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานน้อยลง เพราะถือว่าเป็นการลาออกเอง หรือการขาดสิทธิต่อเนื่อง เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการรักษาสิทธิที่มีเงื่อนไขเวลา เช่น

.

เมื่อออกจากงานและต้องการต่อสิทธิ เพื่อรักษาสถานภาพสมาชิกประกันสังคมจะต้องส่งเงินสมทบหลังจาก 8 เดือน นับแต่วันถูกเลิกจ้างหรือออกจากงาน ในส่วนนี้คาดว่า น่าจะมีผู้ประกันตนหลุดออกจากประกันสังคมจำนวนมาก และมีเงินของผู้ประกันตนที่เคยสมทบแต่ขาดสิทธิเพราะไม่ไปต่อสิทธิเป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้

.

รวมถึงรัฐบาลควรจะพิจารณาการขยายระบบประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบและแรงงานกลุ่มอื่นๆ ให้มากขึ้น เพราะขณะนี้มีลูกจ้างหลายประเภทที่ยังไม่ได้รับการดูแลโดยระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างชั่วคราวของราชการและรัฐวิสาหกิจ เกษตรกร ลูกจ้างภาคเกษตร ผู้รับงานมาทำตามบ้าน รับจ้างทำสินค้า รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลาย ตั้งแต่หาบเร่แผงลอย ทนายความ ช่างเสริมสวย

.

และรัฐบาลต้องมีการผลักดันแก้ไขการประกันการว่างงานของประกันสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานสูงอายุ ที่มีการตัดสิทธิผู้ได้รับประโยชน์เนื่องจากอายุเกิน 55 ปี ทั้งในรายที่เกษียณ และรายที่ถูกเลิกจ้างด้วย

.

ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท