เนื้อหาวันที่ : 2009-06-03 17:58:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1141 views

คลัง ยันกู้เงิน 4 แสนลบ. ไม่กระทบสภาพคล่อง - ผลตอบแทนในตลาด

คลังเนื้อเต้นเร่งเตรียมแผนรองรับการกู้เงิน 4 แสนล้านบาท หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก กู้เงินฯ ไม่ขัด รธน. อ้างรัฐบาลมีทางเลือกในการระดมเงินหลากหลาย เลี่ยงกระทบผลตอบแทนในตลาด

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)  เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้จัดเตรียมแผนการรองรับเกี่ยวกับการกู้เงิน 4 แสนล้านบาท หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาทไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว 

.

โดยวงเงินกู้แรก 2 แสนล้านบาท จัดเตรียมไว้เพื่อสมทบเงินคงคลัง ชดเชยรายได้ภาษีปีงบประมาณ 52 ที่จะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.8 แสนล้านบาท ส่วนวงเงินกู้อีก 2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับโครงการลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2)                    

.

ทั้งนี้ยืนยันว่า การกู้เงินของรัฐบาลวงเงิน 4 แสนล้านบาท รัฐบาลจะมีทางเลือกในการระดมเงินที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อตลาดพันธบัตรตึงตัว และกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้เงินของภาคเอกชนได้ 

.

"เราจะใช้วิธีระดมเงินที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อตลาดพันธบัตรตึงตัว ดูแลสภาพคล่องในระบบให้เพียงพอต่อภาครัฐและเอกชน ตอนนี้หากจะกู้เงินจากสถาบันการเงินก็ทำได้ง่าย เพราะสภาพคล่องส่วนเกินเยอะ นอกจากนี้ต้องเลือกกู้เงินโดยกำหนดทั้งดอกเบี้ยลอยตัว และคงที่ ไม่ออกแบบคงที่มาก เพราะจะกระทบ yield curve ให้ขยับตามได้" นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว 

.

สำหรับขั้นตอนหลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้  และหลังจากกฎหมายผ่านสภาแล้ว กระทรวงการคลัง จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมครม.อีกครั้งเพื่อขออนุมัติการปรับแผนการก่อหนี้ภาครัฐปีงบประมาณ 52 ต่อไป 

.

รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่าขณะนี้ กระทรวงการคลัง ยังเดินหน้ากู้เงินตามแผนเดิม โดยในเดือน มิ.ย.นี้ จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ ขายให้ประชาชนทั่วไปและนักลงทุนรายย่อย วงเงินรวม 10,000-30,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาในการกำหนดอายุพันธบัตร  วงเงินที่จะออกขายและอัตราดอกเบี้ย ส่วนการกู้เงินเพื่มอีก 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก. จะพิจารณาตามสถานการณ์และความต้องการของตลาดในช่วง 6 เดือนข้างหน้า 

.

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ได้ปรับแผนการก่อหนี้ภาครัฐปีงบประมาณ 52 มาแล้ว หลังจากที่ประชุม ครม.อนุมัติการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 94,000 ล้านบาท เนื่องจากจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 52 ที่ต่ำกว่าเป้า  โดยปรับแผนการกู้เงินในประเทศจาก 525,860 ล้านบาท เป็น 619,859 ล้านบาท โดยเพิ่มการออกพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาส 3 จาก 94,500 ล้านบาท เป็น 101,500 ล้านบาท ขณะที่ มีรูปแบบการระดมเงิน ทั้งการออกพันธบัตรออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาลทั้งแบบดอกเบี้ยลอยตัว และดอกเบี้ยคงที่  ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน