เนื้อหาวันที่ : 2009-06-02 16:19:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1140 views

ซีพีคาดส่งออกปีนี้ติดลบ15%จี้รัฐดูแลค่าบาท

ซี.พี.คาดส่งออกไทยปี 2552 ติดลบ 15% จี้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาท จวกโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ไม่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจตามเป้า ห่วงการเมืองเป็นตัวถ่วง

ซี.พี.คาดส่งออกไทยปี 2552 ติดลบ 15% ร้องรัฐบาลดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดี แต่ยังห่วงการเมือง

.

ดร.อาชว์  เตาลานนท์  รองประธานกรรมการ เครือเจริญภัณฑ์

.

ดร.อาชว์  เตาลานนท์  รองประธานกรรมการ เครือเจริญภัณฑ์ ประเมินภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2552 ว่า  น่าจะติดลบประมาณ 15% เนื่องจากประเทศที่มีกำลังซื้อสูงหลักๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว   ขณะที่จีนมีสัญญาณที่ดีจากการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้นมาในระดับหนึ่งได้

.

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยติดลบราว 20% แต่เชื่อว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาส ที่ 4  การส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่หลายๆ ฝ่ายประเมินว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว  และคาดว่าจีดีพีของเศรษฐกิจทั้งโลกน่าจะอยู่ในระดับ 2.6 ในไตรมาสที่ 3 นี้

.

"จีดีพีของเราที่เพิ่งประกาศไปว่าติดลบ 7% ในช่วงไตรมาสแรก แต่ยังมีความเชื่อว่าในไตรมาส 2 จีดีพีจะติดลบน้อยลง และไตรมาส 3 จะติดลบน้อยลงจากไตรมาส 2  ขณะที่เชื่อว่าไตรมาส 4  จีดีพีน่าจะเป็นบวก  นอกจากนี้เชื่อว่าทั้งปีจีดีพีของประเทศน่าจะอยู่ในระดับ  4-5%"

.

ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ  ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าของไทยอย่างมาก  หากค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมากกว่านี้จะเป็นผลดีกับภาคธุรกิจมาก โดยต้องการให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าระดับประมาณ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

.

"แต่ไม่อยากให้ค่าเงินมีการปรับตัวที่รวดเร็วเกินไปนัก  หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เข้ามาดูแลให้มากกว่านี้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก"

.

สำหรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล รองประธานกรรมการ เครือเจริญภัณฑ์ มองว่า รัฐบาลมีความพยายามที่ดีอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง  2555  ด้วยเงินลงทุน 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในช่วง 3 ปีนี้ให้ได้ แต่เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมายังไม่อาจจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย

.

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เชื่อว่าคงจะยังไม่เห็นผลในระยะเวลาอันสั้น 3 ปี ตามที่รัฐบาลบอกไว้  เพราะเงินกู้ที่นำมาใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการในระยะยาว ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลชัดเจน   คาดว่าอย่างน้อยในระยะยาว 20 ปีมาตรการนี้จึงจะชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามถือว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ"

.

ทั้งนี้การจะให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้นอกจากจะอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าวแล้ว รัฐบาลต้องสร้างโครงการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเข้มแข็ง

.

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งทำให้ประชนขาดความเชื่อมั่น  หากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากกว่านี้ก็จะเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมาได้   แม้ขณะนี้ภาพลักษณ์ทางด้านการเมืองจะปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยังถือว่าไม่มากนัก

.

ดร.อาชว์ กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ทุกๆ  รัฐบาลมีความพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ   โดยแต่ละประเทศมีการใช้มาตรการที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน ทำให้ผลที่เกิดขึ้นหลายๆ ประเทศก็ได้รับผลในลักษณะที่ดีคล้ายๆ กัน ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดความโดดเด่นมากนัก  ซึ่งจุดนี้เองเป็นผลเสียที่ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องออกแรงในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

.

"หลายๆ ประเทศในอาเซียนใช้การแก้ปัญหาที่คล้ายๆ กัน ไม่มีใครโดดเด่นไปกว่ากัน ทำให้เกิดการ cancel กันเองในกลุ่มอาเซียน แทนที่จะมีประเทศใดประเทศหนึ่งช่วยดึงเศรษฐกิจในภาพรวมของอาเซียนให้ดีขึ้น   แต่ภาพรวมการแก้ปัญหาในกลุ่มอาเซียนยังถือว่าดีอยู่"

.

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบภาพรวมการเติบโตของกลุ่มประเทศในอาเซียน น่าจะมีศักยภาพดีกว่าฝั่งยุโรปหรืออเมริกา  หรือกลุ่มอื่นๆ เพราะอาเซียนยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก  ซึ่งเคยมีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเคยออกมากล่าวว่า  ถ้าเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัว  ทางฝั่งเอเชียน่าจะฟื้นได้ก่อนมากกว่า

.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์