เนื้อหาวันที่ : 2009-06-02 12:03:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3731 views

อวสาน GM ปิดตำนานค่ายรถยักษ์ใหญ่ภายใต้บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

เจนเนอรัล มอเตอร์ส อดีตบริษัทรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี และสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐที่ยาวนานเป็นอันต้องจบตำนานลงหลังยื่นขอล้มละลาย

เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) อดีตบริษัทรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี  และสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐมายาวนานได้ยื่นเรื่องขอล้มละลายอย่างเป็นทางการต่อศาลล้มละลายนิวยอร์กแล้ว นับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์

.

การล้มละลายครั้งนี้ เป็นทางเลือกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะบริษัทไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรได้ภายในกำหนดที่รัฐบาลขีดเส้นตายไว้ เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือของรัฐบาล หลังจากที่บริษัทขาดทุนอย่างหนักถึงเกือบ 8.8 หมื่นล้านดอลลาร์มานับตั้งแต่ปี 2547 นอกจากนี้ จีเอ็มยังไม่สามารถแบกรับกับต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งได้ และบริษัทก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจรถอเนกประสงค์ที่กินน้ำมันได้ ในขณะที่ผู้บริโภคต้องการรถประหยัดพลังงานในช่วงที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นต่อเนื่อง 

.

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ กล่าวถึงการยื่นล้มละลายของจีเอ็มว่า เป็นการดำเนินการที่ยากต่อการตัดสินใจ แต่ก็เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องและสมเหตุสมผล อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่บริษัทที่เคยเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสหรัฐจะมีโอกาสกลับมาผงาดขึ้นอีกครั้ง โดยรัฐบาลสหรัฐจะถือหุ้นในจีเอ็ม 60% แต่จะเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีบทบาทมากนัก และโอบามาก็ไม่ต้องการเข้าไปบริหารงานในจีเอ็มด้วยตนเอง 

.

กระทรวงการคลังสหรัฐจะจัดหางบประมาณ 3.01 หมื่นล้านดอลลาร์ มาลงทุนในจีเอ็ม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท ในช่วงที่บริษัทอยู่ในระหว่าง การดำเนินการตามกระบวนการล้มละลายตามมาตรา 11 จากเดิมที่ให้ไปแล้ว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากงบประมาณในการแก้วิกฤตมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ที่ได้รับอนุมัติในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช 

.

นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยถึงการที่รัฐบาลเข้าไปถือหุ้นในจีเอ็มว่า การเข้าไปถือหุ้นในจีเอ็มนั้น ขอรับประกันว่า รัฐบาลจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และรัฐบาลก็จะถอนตัวออกจากบริษัทโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้นในจีเอ็มใหม่ 60% และอีก 12%  จะเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลแคนาดาที่ตกลงจะปล่อยเงินกู้ 9.5 พันล้านดอลลาร์ให้กับบริษัท 

.

ภายใต้มาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายนั้น กฎหมายจะให้เวลาบริษัทปรับโครงสร้างองค์กรโดยไม่ต้องห่วงเรื่องหนี้สินกับเจ้าหนี้ โดยในระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการล้มละลาย  จีเอ็มวางแผนที่จะลดองค์กรให้มีขนาดเล็กลง ผลักดันให้โรงงาน แบรนด์รถในสังกัด และดีลเลอร์สามารถทำกำไรได้ รวมทั้งการถึงจุดคุ้มทุนในการขายรถยนต์ให้ได้ 10 ล้านคันต่อปี จากเดิมที่ต้องขายให้ได้ 16 ล้านคัน จึงจะถึงจุดคุ้มทุน 

.

ทั้งนี้ คาดว่า จีเอ็มจะสามารถหลุดพ้นจากการคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายได้ภายใน 60 - 90 วัน ซึ่งจะมีการตั้งบริษัทใหม่ที่จะมุ่งเน้นการทำตลาดรถแบรนด์หลักๆอย่าง คาดิลแลค เชฟโรเล็ต บูอิค และจีเอ็มซี ในตลาดรถสหรัฐ                    

.

"โอบามา" ย้ำการเสียสละของพนักงานเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ประธานาธิบดีโอบามาได้ขอร้องให้พนักงานที่ต้องสูญเสียตำแหน่งงานเข้าใจ เพราะการเสียสละครั้งนี้ก็เพื่ออนาคตของชาวอเมริกันรุ่นต่อไป เพื่อที่ลูกหลานของทุกคนจะได้เติบโตในสหรัฐและผลิตรถในสหรัฐได้ต่อไป 

.

นายฟริทซ์ เฮนเดอร์สัน ประธานบริหารของจีเอ็ม ออกมาเรียกร้องให้ลูกค้าให้โอกาสบริษัทอีกครั้ง และกล่าวว่า จีเอ็มที่เคยทำให้พวกคุณต้องผิดหวังนั้น บัดนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว และขอขอบคุณประชาชนผู้เสียภาษีชาวอเมริกันและแคนาดาที่มีส่วนสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยชีวิตจีเอ็ม 

.

บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลโอบามา นักวิเคราะห์เสียงแตก ทั้งเชื่ออุตสาหกรรมรถได้อานิสงส์แต่ไม่วายห่วงประโยชน์ทับซ้อน

นักวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส กล่าวว่า การที่รัฐบาลสหรัฐเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นในจีเอ็มทำให้เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อาทิ มาตรการภาษีที่จะใช้กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อรถใหม่แทนรถเก่า รวมถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะการที่รัฐบาลลงทุนในจีเอ็มและไครสเลอร์ก็อาจจะออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อค่ายรถยนต์ทั้ง 2 แห่ง ขณะที่ ฟอร์ด มอเตอร์ จะเสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 

.

เลน บลูม กรรมการผู้จัดการของเวสท์วู้ด แคปิตอล แอลแอลซี กล่าวว่า การที่จีเอ็มยื่นล้มละลายนี้ถือเป็นการดำเนินการที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์  และบริษัทก็จะสามารถกลับมาได้ใหม่ในฐานะบริษัทรถที่มีความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นที่ดึงเรื่องการยื่นล้มละลายของจีเอ็มไว้นานก็คือ เรื่องสัญญาด้านแรงงานและความสัมพันธุ์ที่มีกับเจ้าหนี้และผู้ซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้น่าจะได้โอกาสในการเคลียร์หนี้เคลียร์สินผ่านขบวนการล้มละลายเสียที 

.

แกรี ไชสัน ศาสตราจารย์ด้านแรงงานของมหาวิทยาลัยคลาร์ค กล่าวว่า การประกาศยื่นล้มละลายของจีเอ็มถือเป็นจุดจบของยุคสมัย และมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับสหรัฐ เพราะจีเอ็มเป็นมากกว่าบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่ง แต่จีเอ็มเป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐ และยังเป็นเสาหลักด้านตำแหน่งงานสำหรับชาวอเมริกัน 

.

ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันซึ่งจัดทำโดย Rasmussen บ่งชี้ว่า 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเข้าเทคโอเวอร์กิจการจีเอ็มด้วยการใช้งบประมาณอย่างน้อย 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้

.

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Rasmussen ระบุว่า มีชาวอเมริกันที่ตอบรับการสำรวจเพียง 21% เท่านั้นที่สนับสนุนแผนการดังกล่าว ขณะที่มีชาวอเมริกันถึง 56% ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในจีเอ็ม โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการดีกว่าหากรัฐบาลปล่อยให้จีเอ็มล้มละลาย

.

อุตสาหกรรมรถญี่ปุ่นยันไม่สะเทือน เผยพร้อมรับมือจีเอ็มล้มละลาย

กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฝั่งสหรัฐไว้แล้ว โดยรัฐบาลจะร่างนโยบายในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการประกาศยื่นพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายของจีเอ็ม 

.

นายโตชิฮิโร่ นิคาอิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ยืนยันว่า หากสถานการณ์ของซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่นน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะมีธุรกิจที่เกี่ยวพันกับธุรกิจของจีเอ็ม รัฐบาลก็จำเป็นต้องพิจารณาเพื่อที่จะผลักดันนโยบายบางอย่างออกมาเพื่อช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ 

.

ซึ่งอาจจะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เหล่าซัพพลายเออร์และบริษัทขนาดเล็กที่มีปัญหาด้านการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทและเครือข่ายต้องล้มละลายไป  นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังวางแผนที่จะขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือแก่ซัพพลายเออร์รถและชิ้นส่วนรถที่ผลิตสินค้าป้อนให้กับจีเอ็ม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการล้มละลายของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่ยื่นล้มละลายในวันที่ 1 มิ.ย. 

.

โตเกียว โชโกะ รีเสิร์ช ซึ่งเป็นสำนักวิจัยสินเชื่อเอกชน เปิดเผยว่า มีบริษัทของญี่ปุ่น 114 รายที่ทำธุรกิจกับจีเอ็ม และกลุ่มบริษัทเหล่านี้จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งก็ตั้งอยู่ที่เขตคันโตะ ในจำนวน 114 บริษัทดังกล่าว มีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถและผู้ผลิตรายอื่นๆจำนวน 70 ราย 

.

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะใช้กองทุนจากโครงการช่วยเหลือด้านการเงินฉุกเฉินสำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางตามแผนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 

.

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาในการระดมทุนจะมีไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐกำลังเตรียมความพร้อมจัดตั้งโครงการรับประกันว่า จะมีการดูแลเรื่องการรับภาระหนี้สินของจีเอ็มกับบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ 

.

บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถ เช่น เดนโซ่ บริดจ์สโตน ไอซิน เซกิ มิตูบิชิ อิเล็กทริก เอเกโบโน บราค อินดัสทรี และโยโรโซ คอร์ป ก็ได้รายงานว่า บริษัทได้ขอเข้าไปเป็นสมาชิกของโครงการช่วยเหลือของสหรัฐ แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า ผลกระทบจากการล้มละลายของจีเอ็มยังไม่แน่นอน จนกว่าบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นจะสามารถเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวของสหรัฐ

.

จีนเชื่อธุรกิจจีเอ็มในแดนมังกรยังเดินหน้าต่อไปได้

เจดี เพาเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ไชน่า ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดการณ์ว่า จีเอ็ม จะยังคงขยายฐานธุรกิจในประเทศจีนต่อไป เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีเอ็มและบริษัทคู่ค้าในจีนช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ในท้องถิ่นคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวการล้มละลายของจีเอ็มในสหรัฐ 

.

"ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีเอ็มและบริษัทคู่ค้าในประเทศจีนจะช่วยให้จีเอ็มยังคงขยายฐานธุรกิจในจีนต่อไปได้ ชาวจีนคุ้นเคยกับแบรนด์ "Shanghai GM" ไม่ใช่ "GM Shanghai" ซึ่งสถานะเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขารู้สึกมั่นคง" ไมเคิล ดันเน กรรมการผู้จัดการเจดี เพาเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ไชน่า กล่าว

.

"ยอดขายของจีเอ็มในประเทศจีนยังคงแข็งแกร่งและรถยนต์รุ่นต่างๆของจีเอ็มก็ยังน่าดึงดูดใจ ทำให้เราเชื่อมั่นว่าจีเอ็มจะยังคงขยายธุรกิจในจีนต่อไป" จอห์น เซง นักวิเคราะห์จาก IHS Global Insight กล่าว

.

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า โอบามาไม่สามารถปล่อยจีเอ็มให้ล้มหายตายจากไปได้ แต่ก็ไม่สามารถปล่อยจีเอ็มบริหารงานไปตามลำพังได้เช่นกัน เพราะการเข้าไปถือหุ้นในจีเอ็ม 60% และการใช้งบประมาณของรัฐป้อนจีเอ็มนั้นล้วนเป็นเงินที่นำมาจากภาษีประชาชน ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐคงจะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นแบบเอ้อระเหยลอยชายที่เปิดทางให้ผู้บริหารดูแลกิจการเต็มรูปแบบเหมือนที่เคยกล่าวไว้ได้ 

.

สถานการณ์ขณะนี้ เรียกได้ว่า แรงกดดันทางการเมือง และด้านเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนด้านการเงินในส่วนที่มีการนำภาษีของประชาชนมาใช้นั้น จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลโอบามาต้องเกาะติดชนิดไม่วางมือ แต่สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยรวดเร็วเพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป