เนื้อหาวันที่ : 2009-06-02 10:11:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1211 views

เงินเฟ้อพ.ค.ลบ 3.3% ติอต่อ 5 เดือน

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ พ.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ยอดลดลงสูงสุดเกิน 10 ปี เหตุนโยบายอภิมหาประชานิยมฉุด มั่นใจไม่มีสัญญาณเงินฝืด

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ค. 52 ลดลง 3.3% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 51 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 5 เดือน เป็นยอดลดลงสูงสุดเกิน 10 ปี ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 52 ลดลง 0.3% ทำให้ยอดเฉลี่ยเงินเฟ้อ 5 เดือน ม.ค.-พ.ค. 52 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 1.1%

.

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน มาจากการลดลงของหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารสาธารณะ 15.2% หมวดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา หนังสือและอุปกรณ์การศึกษาลดลง 10.0% ค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาลด 4.9% และค่าเครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย-หญิงลด 3.4% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น

.

ข้าว เนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.2% ค่าผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 5.5% ค่ายาและเวชภัณฑ์และค่าของใช้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 1.4% หมวดบันเทิงและการอ่านเพิ่มขึ้น 0.8% ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 0.5%

.

นางพิมพาพรรณ กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน แต่ยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะเกิดเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อที่ลดลงมาจากการลดลงของน้ำมันที่เดือนนี้อยู่ที่ 63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับรัฐบาลออกนโยบายลดค่าเรียนฟรี 15 ปี ทำให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งปกติจะเป็นรายจ่ายสำคัญของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม

.

"กระทรวงพาณิชย์ยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5% เหมือนเดิม แม้เงินเฟ้อรวม 5 เดือน จะลดลงถึง 1.1% แต่เชื่อว่าหากถึงเดือน ส.ค. เมื่อนโยบายลดค่าครองชีพในการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟฟรี รวมถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สิ้นสุด จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้ เพราะเวลานี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาในประเทศปรับขึ้น ประกอบกับรัฐได้ขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ และสุรา จะทำให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่ม และเงินเฟ้อน่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย"

.

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค. คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ แต่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 24% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดออก เทียบกับเดือน เม.ย. 52 ลดลง 0.6% เทียบกับเดือน พ.ค. 51 ลดลง 0.3% แต่ยอดเฉลี่ย 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ยังสูงขึ้น 1.1% 

.

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ  ด้านเสถียรภาพการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. มีความเป็นห่วงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่เชื่อว่าไม่ทำให้เกิดปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรอบ 2 เพราะเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ดังนั้นยังสามารถใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้มีแผนที่จะทบทวนตัวเลขเงินเฟ้อในปี 53 ใหม่จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1-3% เพื่อให้สอดคล้องกับสถาน การณ์ที่เกิดขึ้นจริง.

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์