เนื้อหาวันที่ : 2009-05-29 15:23:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1161 views

ชาญชัย เล็งขยายเพดานเงินกู้เอสเอ็มอี

รมว.อุตสาหกรรม เล็งขยายเพดานเงินกู้เอสเอ็มอี จาก 200 ล้านเป็น 500 ล้านบาท พร้อมเข็นโรงงานอุตสาหกรรมลงอีสาน พุ่งเป้าเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ ดันอีสานเป็นเมืองแห่งยางพารา

ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง เล็งขยายเพดานเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอี จาก 200ล้าน เป็น 500ล้านบาท พร้อมผลักดันให้ภาคอีสานเป็นแหล่งรองรับการลงทุนแห่งใหม่

.

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ผลักดันการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ที่จังหวัดนครราชสีมา ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะขยายเพดานเงินกู้ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จาก 200 ล้านบาท เพิ่มเป็น 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ ประมาณ 5%

.

โดยไม่ต้องมีการแก้กฎหมายหรือนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นไปตามกฎกระทรวงและสามารถทำได้เลย โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการลงรายละเอียด เพื่อกำหนดเวลาเริ่มโครงการอีกครั้งหนึ่ง

.

ทั้งนี้ เป้าหมายของการเพิ่มเพดานเงินกู้ ก็เพื่อกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ให้มีความเข้มแข็ง โดยเงินก้อนดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ให้กู้เงินมาจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสียดอกเบี้ยให้ในอัตรา 1% ต่อปี และเปิดให้ผู้ประกอบการกู้เงินผ่านทางเอสเอ็มอีแบงก์

.

นอกจากนี้ นายชาญชัย ยังได้เปิดเผยต่อ ถึงแผนงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้เชิญผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ประมาณ 600 ราย ร่วมรับฟังโอกาสและหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ ผ่านงานสัมมนาครั้งนี้

.

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการจะผลักดันให้ภาคอีสานเป็นแหล่งรองรับการลงทุนใหม่ ที่จะขยายตัวมาจากภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกรถยนต์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า

.

การลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศมายาวนาน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2547-2552) มียอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคอีสานจำนวน 560 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของทั้งประเทศ

.

โดยอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่นี้ คือ กิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และ ผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอาหารแปรรูป กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ และ โรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่การลงทุน จะกระจุกตัวอยู่ที่ จังหวัด นครราชสีมา และ ขอนแก่น

.

"ภาคอีสาน มีโลเคชันที่ดีในการที่จะพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ เป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ เพราะว่ามีเส้นทางที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งทางประเทศลาว, กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางที่ง่ายหากจะไปในเส้นทางสู่ อีสเทิร์นซีบอร์ด จึงไม่ควรมองข้ามในการชักชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น"

.

นอกจากนี้ นายชาญชัย ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคอีสาน โดยต้องการที่จะผลักดันให้ภาคอีสานเป็นเมืองแห่งยางาพารา โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพาราทำรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 4พันล้านบาท ขณะเดียวกันยังมองเห็นว่า ในภาคอีสาน ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้มีโครงการเหมืองโปรแตสเพิ่มมากขึ้น เพราะภาคอีสานมีแร่ชนิดนี้อยู่เยอะ

.

นางอรรชกา สีบุญเรือง บิมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอได้เร่งมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน เพราะภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะถดถอย โดยมาตรการที่บีโอไอทำ มีทั้งการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และ ชะลอการเลิกจ้างแรงงาน

.

โดยในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ที่ผ่านมา บอร์ดบีโอไอ ได้มีมาตรการพิเศษ เพื่อเร่งรัดการลงทุนในปีแห่งการลงทุน 2551-2552 และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ฯลฯ เพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย