เนื้อหาวันที่ : 2009-05-29 12:13:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1116 views

มาร์คถอดใจปลุกส่งออกฟื้น

อภิสิทธิ์ ออกอาการถอดใจยอมรับการส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 15-20% เพ้อทิศทางการส่งออกถึงจุดต่ำสุดแล้ว หลังจากนี้น่าจะดีขึ้น จี้พาณิชย์รักษาตลาดเก่า พร้อมขยายตลาดใหม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกไทยว่า การส่งออกไทยปีนี้น่าจะติดลบ โดยมีสาเหตุจากปัญหา กำลังซื้อทั่วโลกลดลง แต่การส่งออกจะติดลบ 15-20% เหมือนที่หลายฝ่ายประเมินไว้ก็ต้องยอมรับแม้จะไม่อยากยอมรับก็ตาม ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะทุกประเทศเศรษฐกิจชะลอตัวหมด แต่ขณะนี้คาดว่าทิศทางการส่งออกถึงจุดต่ำสุดแล้ว และหลังจากนี้น่าจะดีขึ้น โดยให้กระทรวงพาณิชย์พยายามหาช่องทางรักษาตลาดเก่า และขยายตลาดใหม่

.

สำหรับปัญหาค่าเงินบาทที่ผู้ส่งออกเป็นห่วงนั้น อัตราแลกเปลี่ยนไทยเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้แข็งค่าเกินประเทศอื่น ๆ ยกเว้น เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย แต่การส่งออกของทั้งสอง ประเทศไม่ได้ดีกว่าของไทยเลย และตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนเรื่องภาษีมุมน้ำเงิน ที่กระทรวงพาณิชย์จะให้รัฐบาลช่วยผู้ส่งออกนั้น ผมยังไม่เห็นรายละเอียด กำลังรอดูจากกระทรวงพาณิชย์อยู่ แต่รัฐบาลจะหามาตรการช่วยเหลือเต็มที่

.

ส่วนเรื่องการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะนี้ไม่น่าห่วงแล้ว เพราะอยู่ในภาวะที่ดูแลได้ แต่ยอมรับว่า ในตอนแรกของการเป็นรัฐบาล ห่วงเรื่องเงินฝืดมาก เพราะเศรษฐกิจโลกซบ กำลังซื้อหด ราคาสินค้าลด แต่ขณะนี้ อยู่ในภาวะที่ดูแลได้ เพราะราคาน้ำมันเริ่มขยับสูงขึ้น และค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่ามากขึ้น

.

"เรื่องภาวะเงินฝืดน่าจะดูแลได้ ซึ่งตอนแรกปลัดกระทรวงพาณิชย์มารายงานผมว่า ไทย อาจจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด เพราะอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องหลายเดือน แต่ตอนนี้คิดว่าควบคุมได้ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ปัญหาการเลิกจ้างเริ่มเบาบางลง จึงคิดว่าดูแลได้"

.

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการ คลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีสัญญาณปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมอาหาร และเคมีภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น

.

ขณะที่การใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอ่อนแอ สะท้อนได้จากเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมทั้งการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐยังจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศ ช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ที่อาจฟื้นตัวช้า และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ 

.

"ยืนยันว่าจีดีพีไตรมาสแรกที่ติดลบ 7.1% ถือเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดว่าไตรมาส 2 จะเริ่มติดลบน้อยลง ส่วนไตรมาส 3 ก็ติดลบน้อยกว่าไตรมาส 2 เนื่องจากมาตร การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นผล และการเมือง    เริ่มมีเสถียรภาพ จะยิ่งทำให้จีดีพีติดลบน้อยลงอีก ส่วนไตรมาส 4 จีดีพีน่าจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ หลังจากติดลบต่อเนื่องกันมา 4 ไตรมาส ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เงินงบประมาณปี 53 เริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่ ต.ค. 52 อีกทั้งพ.ร.ก.ให้อำนาจกระ ทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท ก็น่าจะมีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน"

.

นายสมชัย กล่าวว่าแต่ทั้งนี้ไตรมาส 4 จีดีพีจะกลับมาเป็นบวกได้ อยู่บนปัจจัยว่าการเมืองต้องนิ่ง พ.ร.ก.กู้เงินฯ ต้องผ่านสภา และค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ แต่หากปัจจัยเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ตัวเลขไตรมาส 4 ก็จะไม่กลับมาเป็นบวกเช่นกัน

.

ทั้งนี้จากการประเมินเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ที่มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องจาก เม.ย. ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สะท้อนการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายการลงทุนและ ขยายกำลังการผลิตสินค้า และขณะนี้กระทรวงการคลังยังคงประมาณการจีดีพีปี 52 ไว้ว่าจะติดลบ 3.5% แต่จะทบทวนตัวเลขจีดีพีอีกครั้งตามกำหนดในเดือน มิ.ย.นี้

.

นโยบายที่รัฐบาลใช้ในการกระตุ้นเศรษฐ กิจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลังที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนนโยบายการเงินก็ทำโดยการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง จึงเหลือเพียงนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน ที่ต้องมีส่วนสำคัญเข้ามาช่วยเหลือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ.

.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์