สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชี้ กฟผ.ควรได้สิทธิ์ผลิตไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของความต้องการใหม่ในอนาคต รัฐมนตรีพลังงาน ชี้ควรทบทวนดูภาวะการเงิน กฟผ. ก่อน พร้อมหนุนแข่งขัน
สำนักข่าวไทยรายงานข่าวเกี่ยวกับสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ชี้ กฟผ.ควรได้สิทธิ์ผลิตไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของความต้องการใหม่ในอนาคต แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุควรต้องทบทวน เนื่องจากต้องดูถึงภาวะการเงินของ กฟผ. ขณะเดียวกันเห็นว่าควรจะส่งเสริมการแข่งขันของภาคเอกชนเพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกที่สุด โดยเอ็กโก้ และราชบุรี น่าจะมีสิทธิ์เข้าประมูลไอพีพีด้วย |
.. |
นายศิริชัย ไม้งาม ประธาน สร.กฟผ. กล่าวถึงนโยบายของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีแผนอาจจะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ในอนาคต จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า กฟผ.จะได้สิทธิ์ผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า เรื่องนี้ สร.กฟผ.ยังไม่ต้องการเคลื่อนไหวอะไร เพราะต้องรอดูว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายจริงหรือไม่ |
. |
เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นข่าวที่เกิดจากการให้สัมภาษณ์ทางสื่อต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของนายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้บริหารทั้งหมด จะต้องเข้าชี้แจงต่อนายปิยสวัสดิ์ให้เข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นที่ กฟผ.ควรได้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ เพราะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต้องผลิตไฟฟ้าไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ขณะที่ภาคเอกชนอาจจะเลือกผลิตหรือไม่ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยดูเหตุผลเรื่องต้นทุนและกำไรเป็นหลัก ซึ่งคาดว่านายปิยสวัสดิ์คงจะเข้าใจเรื่องนี้ |
. |
ด้านนายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เนื่องจากข้อกำหนดเดิมเกิดจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีแผนกระจายหุ้น กฟผ.และต้องการให้ กฟผ.มีกำลังการผลิต มีการลงทุนในอนาคตเพื่อดึงดูดความน่าสนใจในหุ้น กฟผ. แต่เมื่อ กฟผ.ไม่ได้กระจายหุ้น ประกอบกับการลงทุนผลิตไฟฟ้าต้องใช้เม็ดเงินลงทุนอีกมาก จึงจำเป็นต้องดูภาพรวมเรื่องฐานะการลงทุน ภาวะการเงินของ กฟผ. และสภาพการแข่งขันว่า กฟผ.ยังจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าในอัตราสูงถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการใหม่หรือไม่ |
. |
โดยหากไม่มีการลงทุนใหม่ กฟผ.ก็นับว่ามีกำลังการผลิตที่สูงอยู่แล้ว เพราะการลงทุนใหม่ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า กฟผ.เป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้าเพียงรายเดียวที่มีการผลิตโรงไฟฟ้าใหม่ถึง 4 โรง โรงละ 700 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแบบสูบกลับที่โรงไฟฟ้าลำตะคองอีกด้วย ซึ่งการประมูลการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี รอบใหม่ จะผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยต้องตัดสินใจให้เร็ว |
. |
ทั้งเรื่องให้ กฟผ.มีกำลังการผลิตร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่หรือไม่ รวมถึงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (พีดีพี) ระยะยาวและการตัดสินใจเรื่องบริษัทในเครือ กฟผ. ว่าจะสามารถเข้ามาแข่งขันในโครงการไอพีพีได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนตัวแล้วเห็นว่าน่าจะเข้ามาแข่งขันได้ ทั้งในส่วนบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก้ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เนื่องจากทั้ง 2 รายล้วนมีความพร้อมและสิ่งสำคัญ หากเข้ามาประมูลแข่งขันได้ ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และจะส่งผลทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนได้รับมีราคาถูกที่สุด. |