ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุสินทรัพย์สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง มีกว่า 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 44,700 ล้านบาท ชี้มีมากพอสำหรับรองรับความต้องการใช้เงินของรัฐบาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สินทรัพย์สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ ณ เม.ย.52 มีจำนวน 2.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 44,700 ล้านบาท จากเดือน มี.ค. 52 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ด้วยเงินสด ขณะที่เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นลดลง |
. |
การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือน เม.ย. เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝากประมาณ 7,960 ล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า และสวนทางกับยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ที่ลดลง 10,200 ล้านบาท |
. |
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสินทรัพย์สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น เดือน เม.ย. พบว่า มีจำนวน 1.08 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 18,700 ล้านบาท |
. |
การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 65,500 ล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.47 ล้านล้านบาท ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 433 ล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 299,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลางมีสภาพคล่องลดลง 21,300 ล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 545,000 ล้านบาท |
. |
และในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.52) เมื่อเทียบกับสิ้นปี 51 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เพิ่มขึ้น 327,000 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 276,000 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 28,400 ล้านบาท และกลุ่มธนาคารขนาดกลางเพิ่มขึ้น 22,400 ล้านบาท |
. |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีอยู่สูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ณ สิ้น เม.ย.52 น่าจะยังคงเป็นระดับที่มากพอสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้ได้ ซึ่งรวมถึงความต้องการใช้เงินจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ ด้วย |
. |
แต่คงต้องติดตามประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าการชะลอตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มลดระดับความรุนแรงลงจะมีความยั่งยืนเพียงใด โดยหากการฟื้นตัวเป็นไปตามความคาดหวังจริง ก็น่าที่จะเป็นทิศทางที่ส่งผลดีต่อการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งก็คงจะทำให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงในระยะถัดไป |
. |
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% เห็นว่า วัฏจักรขาลงของดอกเบี้ยนโยบายอาจจะสิ้นสุดลงแล้ว หากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายลงไปอีก ส่งผลตามมาให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะเข้าใกล้ระดับที่ต่ำสุดแล้วเช่นเดียวกัน |
. |
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยน่าจะยังมีแนวโน้มทรงตัวต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไปจนกว่าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่ถ้าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มปรากฏชัดเจนและมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง ก็อาจทำให้สภาพคล่องส่วนเกินมีแนวโน้มถูกระบายออกไปผ่านการขยายตัวของสินเชื่อ |
. |
ประกอบกับ อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์สภาพคล่องที่อาจเริ่มขยับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจมากพอที่จะกลับมาแข่งขันกันระดมเงินด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษหรือผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยจูงใจอีก |