เนื้อหาวันที่ : 2006-10-21 21:29:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 883 views

ข้อคิดเห็นของหอฯและสภาหอฯต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2549 เวลา 10.30 น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดแถลงข่าวประจำเดือนตุลาคม 2549 เรื่อง ข้อคิดเห็นของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

..

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2549 เวลา 10.30 น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดแถลงข่าวประจำเดือนตุลาคม 2549 เรื่อง ข้อคิดเห็นของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งสาระสำคัญของการแถลงข่าวสรุปได้ดังนี้

.

นายดุสิต  นนทะนาคร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้า   แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยังกังวลใจและอยากให้รัฐบาลช่วยเร่ง   ชี้แจงทำความเข้าใจในนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในขณะนี้   ต้องยอมรับว่านักลงทุนต่างชาติยังเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่มากนัก    จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งหอการค้าไทย    สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ   กับรัฐบาลในการสร้างความเข้าใจกับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ   เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและหันกลับมาลงทุนในประเทศไทย  

.

นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐบาลทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเจรจา เอฟทีเอ   รวมถึงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   เพื่อให้กลับมาดีขึ้น แม้จะมีระยะเวลาบริหารงานไม่มากนัก แต่เชื่อว่า  หากรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นได้ น่าจะทำให้นักลงทุนหันกลับมาลงทุนในประเทศไทย นายดุสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2549 นั้น ขณะนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ตอบรับที่เดินทางไปรับฟังสรุปผลการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ ในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2549 แล้ว

.

นายปีเตอร์ เจ แวนฮาเรน  รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  และประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย กล่าวว่า มุมมองของนักธุรกิจจาก ต่างประเทศส่วนใหญ่ยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่หลังการปฏิรูป  การปกครองฯ คงต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นได้หายไปบ้าง บางรายอาจมี  ปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจและยังคงต้องจับตาดูว่าเมื่อไรสถานการณ์จะกลับมา เป็นปกติ นอกจากนี้ ต้องดูว่ารัฐบาลจะทำเรื่องงบประมาณให้เดินหน้า   อย่างไร สิ่งสำคัญตอนนี้คือ รัฐบาลควรมีการพูดคุยกับนักลงทุนต่างประเทศให้มีความมั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงว่าคืออะไร เพราะ  ณ วันนี้ถือว่าคำอธิบายของรัฐบาลยังไม่ชัดเจน รวมถึงการพิจารณาข้อกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้มีความเหมาะสมด้วย

.

นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย   กล่าวว่า หอการค้าไทยมีท่าทีที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้มีการเจรจา เอฟทีเอ.   ในระดับนโยบายต่อไป โดยเฉพาะ เอฟทีเอ. ไทย-ญี่ปุ่น ที่อยู่ระหว่าง   การรอการลงนาม และเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่ขณะนี้การเจรจาได้หยุดชะงักไป ซึ่งเท่าที่ได้รับข้อมูลการเจรจาภายใต้กรอบ เอฟทีเอ. ยังไม่มีการยกเลิก  เพียงแต่ต้องการความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป    ส่วนท่าทีของภาคเอกชนเห็นว่าไม่อยากให้รัฐบาลนำเรื่องของ เอฟทีเอ.  กลับมาเริ่มนับหนึ่งหรือตั้งคณะกรรมการเจรจาใหม่ เพราะการเจรจา  ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ เอฟทีเอ. ไทย-ญี่ปุ่นได้มีความคืบหน้ามากแล้วจึงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไป ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้ออกมาพูดอย่างชัดเจนว่า การเจรจาภายใต้กรอบ เอฟทีเอ.จะเสนอขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลาไปบ้างแต่ก็อยากให้รัฐบาลเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไป

..

นายศิริชัย  ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า   สำหรับสถานการณ์และข้อเสนอแนะในการพัฒนาเศรษฐกิจของ 3 จังหวัด   ชายแดนภาคใต้นั้น ภาคเอกชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยากให้รัฐบาลชุดนี้   ให้ความสนใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าหากรัฐบาลสามารถ   แก้ไขปัญหาในภาคใต้ได้จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้    สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอผ่านหอการค้าไทยในช่วงนี้คือ    อยากให้รัฐบาลพิจารณาผลักดันให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขต   เศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์กลางอาหารฮาลาล การพัฒนาและลงทุนเพื่อให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้ง การหามาตรการช่วยเหลือนักลงทุนท้องถิ่นให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีความจริงใจในการใช้งบประมาณสนับสนุนการลงทุน ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาดีขึ้นโดยเร็ว

.

นางเสาวณีย์  ไทยรุ่งโรจน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง ภาพรวมและแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยภายหลัง    การปฏิรูปการเมืองว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเดือนที่ผ่านคงต้องยอมรับว่า แม้ว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ผู้บริโภคส่วนใหญ่    มีความมั่นใจมากขึ้นแต่ยังไม่มั่นใจมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งมีการใช้จ่ายมากรวมทั้งปัญหาน้ำท่วมซึ่งขณะนี้ประสบปัญหามากกว่า 40 จังหวัด ดังนั้น ภาครัฐ จะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น

.

ขณะเดียวกันความคิดเห็นของผู้ประกอบการยังกังวล ใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจและมองว่าปี 2549 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ ในระดับร้อยละ 4-4.5 แต่ปี 2550 การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจไม่ถึงร้อยละ 4 จึงเป็นหลักสำคัญที่ภาครัฐจะต้องสร้างเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความกังวลใจเรื่องราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องเดินสาย ชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมทั้ง เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 เพราะงบลงทุนในส่วนเอกชนยังมีน้อย จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐจะกระตุ้นการลงทุนและเอกชน ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจา เอฟทีเอ.

 

ที่มา : หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย