เนื้อหาวันที่ : 2006-03-02 17:22:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13086 views

นวัตกรรมแห่งน้ำมันปาล์มจากโรงงานผลิตต้นแบบ

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีการเพาะปลูกกันอย่างกว้างขวางในภาคใต้ของประเทศ

 

 

ณ ปัจจุบัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากภาคอุตสาหกรรม ได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งาน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเอง การพัฒนาทางด้านกล ยุทธ ์ รวมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กรให้ดีขึ้น และแน่นอนว่า การขยายตัวที่รวดเร็วนั้น จะต้องประสบกับวิกฤติการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน ทั้งในเรื่องของการกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ ปัจจัยเสี่ยงภายนอกอย่างเช่น ราคาของน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นแทบจะทุกวัน ส่งผลให้ต้นทุนทั้งทางการผลิตและการขนส่งมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องดิ้นรนหาทางรอดเพื่อให้ตนเองยังสามารถยืนอยู่ในสังเวียนการแข่งขันนี้ได้อย่างไม่เจ็บตัวมากนัก

 

สำหรับคอลัมน์ Plant Tour ในฉบับนี้ ทีมงานของเราจะพาท่านไปพบกับ บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด และ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมัน กระบี่ จำกัด อีกส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป ในด้านของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม ที่แปรรูปมาจากพืชผลทางด้านการเกษตรที่ได้มาจากพี่น้องชาวเกษตรกรของประเทศนั่นเอง

 

 

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีการเพาะปลูกกันอย่างกว้างขวางในภาคใต้ของประเทศ ปาล์มน้ำมันสามารถทำรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว สำหรับศักยภาพของพืชปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้นยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายในการอุปโภคบริโภค ทั้งในแง่คุณค่าประโยชน์จากน้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมอาหาร การนำไปประกอบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ เนย สบู่ เครื่องสำอาง นอกจากนี้ ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไบโอดีเซล ที่สามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศได้ อีกทั้งต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากนัก ทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกและส่วนของอุตสาหกรรมผลิต จึงเหมาะอย่างยิ่งในการลงทุน

 

สำหรับประเด็นสำคัญของคอลัมน์ Plant Tour ในฉบับนี้นั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนของ บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด จะขอเน้นไปในเรื่องของการผลิตน้ำมันปาล์ม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยการนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตมาเข้าสู่ระบบบำบัด พัฒนาเป็นก๊าซชีวภาพ ที่สามารถนำไปทดแทนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงาน และสำหรับส่วนที่สองนั้น จะเจาะประเด็นกันในเรื่องของโครงการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มของ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด

 

บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด

ส่วนของ บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด นั้น ทางทีมงานได้รับเกียรติจาก คุณนิพนธ์ อุดมผลกุล กรรมการผู้จัดการ และ คุณชาญชิต นาวงศ์ศรี ผู้จัดการทั่วไป ได้ให้เกียรติเล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมาบำบัดเป็นก๊าซซีวภาพ จนถึงการนำก๊าซชีวภาพมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานและจำหน่าย ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้เลยครับ

 

 

บริษัทมีเป้าหมายแรกคือ ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณโรงงานให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เนื่องจากน้ำเสียที่เกิดขึ้นเหล่านั้นทำให้เกิดมลพิษ ส่วนผลพลอยได้จากการจัดการน้ำเสียนั้น ยังก่อให้เกิดก๊าซชีวภาพซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย

นายชาญชิต นาวงศ์ศรี

ผู้จัดการทั่วไป

บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด

 

กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม

สำหรับกระบวนการผลิตของเอเชียนน้ำมันปาล์มนั้น จะเป็นระบบการผลิตแบบหีบเปียกในการสกัดเอาน้ำมันดิบออกมา โดยมีกระบวนการตั้งแต่การรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม จากนั้นก็นำผลปาล์มสดทั้งทะลายมาเข้าเครื่องนึ่งด้วยไอน้ำ หลังจากทำการนึ่งแล้วก็นำมาผ่านเครื่องนวดกวนเพื่อแยกเอาเนื้อและเมล็ดออกจากกัน ในส่วนที่เป็นเนื้อผลปาล์มจะถูกลำเลียงเข้าเครื่องเพื่อทำการหีบเอาน้ำมันดิบออกมา ผ่านเครื่องกรองแยกน้ำมันเข้าสู่ถังเก็บน้ำมันปาล์มดิบ ในส่วนที่เป็นเมล็ด จะถูกนำเข้าเครื่องอบและกะเทาะออกจากกะลา เพื่อนำเนื้อในของเมล็ดไปสกัดเอาน้ำมันอีกครั้ง หนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน เอเชียนน้ำมันปาล์ม มีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 41,000 ตันน้ำมันดิบ/ปี จากจำนวนของผลปาล์มสด 216,000 ตัน

 

 
ก่อเกิดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต

จากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นต้องมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมากในการผลิต ก่อให้เกิดน้ำเสีย รวมถึงเศษวัสดุเหลือจากกระบวนการผลิต อาทิเช่น เส้นใยจากเนื้อผลปาล์ม ทะลายเปล่า กะลาจากเมล็ดปาล์ม รวมถึงกากตะกอนอีกจำนวนมหาศาล ในส่วนของวัสดุเหลือทิ้งที่เป็นเส้นใยและกะลานั้นสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อไอน้ำในกระบวนการผลิตได้ แต่ในส่วนของน้ำเสียที่เกิดจากขั้นตอนของการนึ่งผลปาล์ม และจากขั้นตอนของการแยกน้ำออกจากน้ำมันนั้น เป็นน้ำเสียที่มีสิ่งสกปรกในรูปของไขมัน น้ำมัน กากตะกอน และสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก โรงงานจำเป็นต้องมีการบำบัดหรือจัดการน้ำเสียเหล่านี้ให้ดีก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพราะถ้าไม่มีการจัดการที่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นขึ้นได้ ซึ่งแต่เดิมนั้น บริษัทเอเชียนน้ำมันปาล์มก็เคยประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน จนถึงกับเกือบถูกกรมโรงงานอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงาน เนื่องจากถูกชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำทิ้งจากการผลิตน้ำมันปาล์มที่ไม่ได้มีการบำบัดที่ดี

 

ความมุ่งมั่นการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมบรรลุผลสำเร็จอย่างหลากหลาย และบริษัทเองยังได้พัฒนารูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดเพื่อที่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ตลอดจนการสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานทดแทนของประเทศไทยต่อไป

 

 

นายนิพนธ์ อุดมผลกุล

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด

เปลี่ยนน้ำเสียเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas)

จากการที่บริษัท ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบนั้น อีกทั้งน้ำเสียหรือกากเหลือทิ้งจากกระบวนการนั้นใช้ประโยชน์ไม่ได้ บริษัทจึงได้เริ่มดำเนินการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และนำส่วนที่เหลือทิ้งจากโรงงานมาบริหารจัดการเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงได้ขอการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาพลังงาน (สนพ.) ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการให้คำแนะนำศึกษาและค้นคว้าวิจัยการผลิตกระแสไฟฟ้า จัดทำโครงการพัฒนาก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของโรงงานขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่งเอเชียนน้ำมันปาล์มเป็นบริษัทรายแรกที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้

 

สำหรับกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของโรงงานนั้น จะใช้น้ำเสียที่ออกมาจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบประมาณวันละ 6,000 ลูกบาศก์เมตร โดยนำมาหมักในถังปฏิกรณ์แบบไร้ออกซิเจนแบบปิด (Closed Anaerobic Tank System) ซึ่งมีกระบวนการย่อยสลายประสิทธิภาพสูงจากการกวนผสมภายในถังอย่างทั่วถึง โดยจุลินทรีย์ในถังจะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียที่อยู่ในรูปของตะกอนแขวนลอยและสารละลาย ได้ออกมาเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นมีเธน (Methane: CH4) และคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2) ส่วนประกอบหลักเป็นมีเธน (Methane: CH4) และคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2)

 

ส่วนของกากตะกอนที่เหลือจากการหมักในถังปฏิกรณ์นั้น สามารถนำมาเพิ่มค่า โดยจะนำไปยังลานตากตะกอน เพื่อทำการแยกตะกอนอินทรีย์ที่หมักย่อยแล้วและบางส่วนที่ย่อยยากออก หลังจากตากจนแห้งเรียบร้อยแล้ว กากตะกอนเหล่านี้จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างดี สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับหน้าดินสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรได้อีกทาง หนึ่ง ด้วย

 

เปลี่ยนก๊าซชีวภาพเป็นกระแสไฟฟ้า

หลังจากที่ได้ก๊าซชีวภาพมาแล้วนั้น บริษัทได้มีการนำก๊าซชีวภาพส่วนนี้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าพลังงานเชื้อเพลิงได้อีกต่อ หนึ่ง ส่วนของกระแสไฟฟ้าที่ได้จากการผลิตนั้น นอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ภายในโรงงานแล้ว ยังเหลือจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้อีกด้วย สำหรับสัดส่วนระหว่างกระแสไฟฟ้าที่โรงงานสามารถผลิตได้นั้นสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสัดส่วนที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้าเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีการลงทุนระบบผลิตก๊าซชีวภาพและการเพิ่มเครื่องจักรในการผลิตกระแสไฟฟ้า กว่า 20 ล้านบาท โดยนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตาหรือก๊าซหุงต้ม โดยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์ ทำให้ได้กระแสไฟฟ้ามากกว่า 2.5 ล้านหน่วย/ปี สำหรับใช้ภายในโรงงานเอง  ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์) ซึ่งคิดเป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าสูงกว่า 6.5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถคืนทุนจากการลงทุนในครั้งนี้ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า  

 

รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด เป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โดยรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรทั่วไป ซึ่งเป็นส่วน หนึ่ง ของภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม นอกจากปริษัทจะทำการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีตามความต้องการของลูกค้าแล้ว บริษัทยังคำนึงถึงความต้องการการบริการที่ดีของลูกค้าหรือแม้แต่เกษตรกรผู้ส่งมอบผลปาล์ม อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น บริษัทยังได้เปิดภาพลักษณ์ที่กว้างไกล โดยนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มาดำเนินการเพื่อการนำร่อง อีกทั้งเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้อื่นต่อไป ตัวอย่างเช่น มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลอย่างต่อเนื่อง

 

 เช่นเดียวกับการจัดการกับน้ำเสียของโรงงาน ซึ่งบริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม ได้ถูกจัดให้เป็น โรงงานน้ำมันปาล์มต้นแบบ ที่ใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย โดยใช้ระบบก๊าซชีวภาพ ที่สามารถลดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนจากบ่อน้ำเสียที่ใช้อยู่เดิมได้เป็นอย่างมาก ช่วยบำบัดสภาพน้ำเสียให้มีความสกปรกน้อยลงจนสามารถปล่อยออกจากโรงงานได้หลังจากผ่านระบบบำบัดแล้ว เป็นการช่วยลดพื้นที่ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ลดปริมาณก๊าซชีวภาพที่ปล่อยทิ้งโดยไม่ได้เป็นประโยชน์ซึ่งเป็นส่วน หนึ่ง ให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะดำเนินการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ควบคู่ไปกับการมีระบบการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป

 

 

ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด

ทุกวันนี้ หากเราจะหาประเด็นใดที่จะนำพูดคุยถกเถียงกันได้นั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นประเด็นของภาวะวิกฤติพลังงานน้ำมันเป็นแน่แท้ เพราะหลังจากที่รัฐบาลได้ตัดสินใจปล่อยให้ราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลลอยตัวอย่างสมบูรณ์ เมื่อกร กฏาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันแต่ละปั๊มก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นแทบจะทุกวัน ถึงแม้ว่าขณะที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้ ราคาน้ำมันจะขยับตัวลดลงบ้างเล็กน้อยทั้งเบนซินและดีเซลแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าราคาจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นไปอีกในอนาคตอันใกล้นี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างผู้ใช้รถยนต์ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ที่ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง หรือแม้แต่ภาคประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ที่ราคาน้ำมันเป็นตัวกำหนด และก็คงจะส่งผลกระทบยาวนานต่อผมและคุณผู้อ่านทั้งหลายอย่างแน่นอน หากว่าประเทศไทยเรายังต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอยู่

 

 

จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลาย ๆ หน่วยงานได้หันมาให้ความสนใจและรณรงค์ให้เกิดการใช้น้ำมันจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศแทนการใช้น้ำมันประเภทฟอสซิลที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศกันมากขึ้น และแน่นอนที่สุดว่า ปาล์มน้ำมัน คงจะเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่จะหยิบยกมาพูดถึง ในแง่ของการนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงที่ชื่อว่า ไบโอดีเซล เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานน้ำมันทดแทนซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นความหวังของเกษตรกรที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำได้อีกด้วย

 

ภาครัฐบอกว่าถ้าคุณให้อาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ที่มั่งคั่ง สร้างสังคมเกษตรที่สมบูรณ์ ปัญหาเรื่องสังคมจะไม่เกิด ซึ่งจากการดำเนินงานของชุมนุมสหกรณ์ ฯ นี้จะเป็นกรณีตัวอย่างในของการพัฒนาทั้งในเรื่องของสังคม ทรัพยากรมนุษย์และเรื่องของเกษตรกรรมปาล์มน้ำมัน โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ตรัสไว้ว่า ต้องให้ความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

 

 

นายสมชาย สิทธิโชค

ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด

 

ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด เป็นอีกหน่วยงาน หนึ่ง ที่มีแนวคิดจะตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลขึ้น โดยมีโครงการที่จะผลิตไบโอดีเซลแบบชุมชนให้ได้วันละประมาณ 10,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งเบื้องต้น ประมงจังหวัดกระบี่ยินดีจะรับซื้อทั้งหมดเพื่อนำไปเติมให้เรือประมงและเรือนำเที่ยวในจังหวัด ซึ่งคาดว่าการผลิตเบื้องต้นนั้น จะมีตลาดรองรับที่เพียงพอ สำหรับการดำเนินงานและรายละเอียดของโครงการนี้ ทีมงานได้รับเกียรติจาก คุณสมชาย สิทธิโชค ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ได้ให้เกียรติเล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการดำเนินงานของสหกรณ์ และโครงการผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์ม ตามหัวข้อดังนี้ครับ

 

การดำเนินงานของชุมชนสหกรณ์

สำหรับการดำเนินงานของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มกระบี่นั้น เป็นสหกรณ์ทางด้านการเกษตร แต่เดิมสหกรณ์แห่งนี้ดำเนินงานเกี่ยวกับการผลิตปาล์มอบผลปาล์มสดป้อนให้กับโรงงานเอกชนที่ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ แต่เนื่องจากราคาของผลปาล์มสดที่ขายได้นั้นมีราคาไม่แน่นอน บางครั้งก็ต่ำเกินไป จึงมีแนวคิดที่จะให้มีการแปรรูปผลปาล์มสดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ ทางชุมนุมสหกรณ์ ฯ จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอวงเงิน 270 ล้านบาท จากงบประมาณตามโครงสร้างเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร (ASPL) มาเป็นงบประมาณก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบ จนทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและทำการทดลองเดินเครื่องจักรเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งระยะเวลาดำเนินงานจนถึงบัดนี้เกือบ 2 ปีเต็ม โดยปัจจุบันนี้ชุมนุมสหกรณ์ ฯ มีอัตรากำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ถึงวันละกว่า 200,000 ลิตรต่อวันหรือประมาณ 45 ตันผลปาล์มสด/ชั่วโมง

 

 

สำหรับวิสัยทัศน์การดำเนินงานนั้น จุดมุ่งหมายหลักของชุมนุมสหกรณ์แห่งนี้ก็คือ เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกของสหกรณ์ ที่มีอยู่เกือบ 10,000 ครอบครัว อันเนื่องมาจากราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ดังนั้นทางชุมนุมสหกรณ์จึงรับเป็นผู้แปรรูปให้เป็นน้ำมันปาล์มดิบบริสุทธิ์เพื่อจำหน่ายให้มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เหล่าสมาชิกเหล่านี้มีผลกำไรที่มากขึ้น เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และเป็นแหล่งสนับสนุนพลังงานทดแทนของประเทศไทยในอนาคตโดยใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มมาแปรรูปเป็นไบโอดีเซล เพราะจังหวัดกระบี่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรของจังหวัดจะมีอาชีพในการทำสวนปาล์ม ซึ่งปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 2.1 ล้านไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในภาคใต้ โดยจังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร ตามลำดับ

 
  • ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของชุมนุมสหกรณ์ ฯ แห่งนี้นั้น ได้อาศัย ยุทธ ศาสตร์ทางด้านการพัฒนาและทางด้านการแข่งขัน เป็นหลัก โดย ทางด้านการพัฒนา นั้นจะเน้นหนักในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะส่วนใหญ่แล้วโครงสร้างของสหกรณ์นั้นจะบริหารภายใต้องค์ประกอบที่หลากหลายโดยพื้นฐานของสังคมเกษตร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญ ทางชุมนุมสหกรณ์จึงเน้นหนักในการสร้าง คนพันธุ์ปาล์ม เพื่อให้เขาเหล่านั้น มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของปาล์มเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดได้อย่างยั่งยืน มีการจัดทำโครงการ กระบี่เมืองปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างชุมนุมสหกรณ์ ฯ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดให้มีการร่างหลักสูตรร่วมกับกรมอาชีวศึกษาในเรื่องปาล์มน้ำมันในการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในจังหวัดกระบี่ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอนาคตต่อไป ส่วนยุทธศาสตร์ ทางด้านการแข่งขัน นั้น ได้กำหนดเอาการพัฒนาทางด้านการดำเนินงานมาเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานทางด้านการแข่งขันต่อไป โดยใช้หลักการบริหารคุณภาพตามระบบ ISO 9001:2000 จัดให้มีโครงการพัฒนาการดำเนินการโดยความร่วมมือกับสถาบันเพิ่มผลผลิต ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ (Value Added by Product) การกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงาน (KPI) การปรับปรุงโครงสร้างการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

สำหรับส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ทางชุมนุมสหกรณ์ ฯ ยังได้มีโครงการรองรับอีกหลายโครงการ ตัวอย่างเช่น

  • โครงการผลิตต้นกล้าและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ปาล์ม ซึ่งตอนนี้ทางชุมนุมสหกรณ์ ฯ ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นแหล่งผลิตต้นกล้าจำหน่ายให้กับเกษตรกร เป็นโครงการ หนึ่ง ที่ร่วมกับทาง ธกส.
  • โครงการ Biogas เป็นโครงการที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกับ บริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (มหาชน) จำกัด ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำเสีย ซึ่งจะใช้พื้นที่ด้านหลังโรงงานในการผลิต
  • โครงการ Biomass กำลังดำเนินการร่วมกับทางกระทรวงพลังงานที่จะพัฒนาการใช้ผลิตผลจากปาล์มน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นกะลา ทะลายปาล์ม หรือส่วนที่เป็นเส้นใยมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า
  • โครงการ Biofiber ร่วมกับภาคเอกชน กำลังดำเนินการก่อสร้างที่จะผลิตเส้นใยทดแทนเส้นใยมะพร้าวที่จะใช้ในอุตสาหกรรมบอร์ดต่าง ๆ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากเส้นใยปาล์มน้ำมันมาเป็นวัตถุดิบ
  • โครงการ Biodiesel เป็นโครงการที่ทางชุมนุมสหกรณ์ได้รับอนุมัติงบประมาณเกือบ 20 ล้านบาทในการสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาด 10,000 ลิตร ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
โครงการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม

การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลนั้น กำลังได้รับความสนใจและสนับสนุนให้มีการพัฒนาอย่างแพร่หลาย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำเสนอข้อมูล ยุทธ ศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมันเพื่อการผลิตเป็นไบโอดีเซลปี 2549-2552 กำหนดขึ้นเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตาม ยุทธ ศาสตร์เดิมคือ ยุทธ ศาสตร์น้ำมันปาล์มปี 2548-2572 ที่มีการร่าง ยุทธ ศาสตร์โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันจากเดิมประมาณ 2.1 ล้านไร่ทั่วประเทศ เป็น 6 ล้านไร่ เพื่อให้มีการใช้ไบโอดีเซลเป็น 8.5 ล้านลิตร/วัน ในปี 2555 ซึ่งจากปัจจัยเอื้อเหล่านี้ อนาคตอันสดใสของโครงการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในประเทศไทย คงจะไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป

 

สำหรับในส่วนของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด นั้น ได้มีการิเริ่มโครงการในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มไปแล้ว โดยทางชุมนุมสหกรณ์ ฯ ได้รับงบอนุมัติเงินลงทุนจากจังหวัดกระบี่ (งบผู้ว่า CEO) มาประมาณ 20 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงงาน ในเบื้องต้นคาดว่าเมื่อโรงงานก่อสร้างเสร็จแล้ว ทางชุมนุมสหกรณ์ ฯ จะสามารถผลิตไบโอดีเซลได้ประมาณวันละ 10,000 ลิตร เพื่อจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมชุมชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรือประมง และเรือท่องเที่ยวภายในจังหวัดก่อน จากนั้นจึงค่อยขยับขยายต่อไป ซึ่งขั้นแรกอาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่สูงมากนักในการผลิต แต่ทางชุมนุมสหกรณ์ ฯ จะเน้นในเรื่องของการเป็นโรงงานต้นแบบแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

 
 

จากประโยชน์และความเป็นไปได้ของโครงการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม ทั้งในเรื่องของศักยภาพของปาล์มน้ำมัน ที่สามารถให้น้ำมันต่อพื้นที่สูงสุด และการใช้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำแล้ว ผมเชื่อว่าหลาย ๆ หน่วยงานคงจะให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องของมาตรการต่าง ๆ ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนผู้ใช้ เรื่องของภาษีเชื้อเพลิง มาตรการของส่วนผสมระหว่างไบ โอดีเซลกับดีเซล 5% หรือ 10% ตามยุทธศาสตร์ ให้มีการใช้ไบโอดีเซลเป็น 8.5 ล้านลิตร/วัน ในปี 2555 จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ ยุทธศาสตร์ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มให้ได้ 6 ล้านไร่ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อรองรับการผลิต ก็ยังไม่ชัดเจนนัก จากปัจจัยเหล่านี้ ถ้าภาครัฐให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจัง ผมเชื่อว่าอนาคตของของชาติคงจะสดใสขึ้น ในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทนจากไบโอดีเซล