เนื้อหาวันที่ : 2009-05-18 09:39:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1339 views

"กรณ์" เร่งนำ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ" เข้า ครม.เร็วกว่าแผนเดิม 2 ปี แก้เหลื่อมล้ำ

กรณ์ เร่งหาช่องรีดภาษีเก็บรายได้เข้ารัฐ เดินหน้าเสนอ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ และกฎหมายอีก 2 ฉบับ เข้าครม. ภายในสองสัปดาห์ หลังดันขึ้นภาษีสรรพสามิตสำเร็จ อ้างผลักดันกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... 2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการติดตามหนี้ด้วยความเป็นธรรม พ.ศ. ... และ 3.ร่างพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ... เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบภายในสองสัปดาห์จากนี้

.

หลังจากที่กระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสินค้าหลายรายการ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับแผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งการผลักดันกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

.

นายกรณ์กล่าวว่า ในส่วนของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าร่างกฎหมายภาษีที่ดินดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร และบังคับใช้ได้ช่วงปลายปี 2552 เพื่อใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  เรียกเก็บภาษีให้ทั่วถึงและเกิดความเป็นธรรม

.

สำหรับอัตราภาษีที่จะจัดเก็บตามร่างกฎหมายได้กำหนดไว้ 3 อัตรา ได้แก่ 1.อัตราทั่วไปสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ อัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน 2.ที่อยู่อาศัย อัตราไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าทรัพย์สิน 3.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม อัตราไม่เกิน 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน

.

ส่วนกรณีพื้นที่ว่างเปล่า จะจัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าสินทรัพย์ และ หากไม่มีการทำประโยชน์ ติดต่อกัน 3 ปี จะเรียกในอัตราก้าวหน้า 2 เท่าของอัตราที่กำหนด ส่วนที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีได้แก่ พระราชวัง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ หรือที่ดินสาธารณะที่ไม่ได้หาประโยชน์ วัด ฯลฯ นอกเหนือจากนั้นจะอยู่ในข่ายเสียภาษีทั้งหมด

.

รมว.คลังกล่าวว่า ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ใช้ในปัจจุบัน มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก เนื่องจากกรณีทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่อาศัยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร บ้านอยู่อาศัยขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางวา ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่เจ้าของบ้านบางรายมีรายได้ค่อนข้างสูง

.

ขณะเดียวกันกลับเรียกเก็บภาษีประเภทที่ดินเช่าเพื่อก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ตึกแถว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อพาร์ตเมนต์ หอพัก อาคารสำนักงาน บ้านเช่า ฯลฯ ในอัตราภาษีสูงถึง 12.5% ของค่าเช่าต่อปี ซึ่งเจ้าของที่ดิน เอกชน หรือ หน่วยงานรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะผลักภาระให้กับผู้ประกอบการที่เช่าที่ดินเป็นผู้เสียภาษีรายปีแทน และในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการที่พัฒนาอาคารให้เช่าจะผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่ใช้พื้นที่อีกทอดหนึ่ง

.

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการติดตามหนี้ด้วยความเป็นธรรมนั้น ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผ่านวาระแรกไปแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อนร่างจึงตกไป และจะนำเสนอใหม่เนื่องจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ครอบคลุมเฉพาะในส่วนของธนาคาร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารและลูกหนี้เท่านั้น  ไม่มีผลบังคับใช้กับบริษัทรับจ้างทวงหนี้ที่รับงานต่อจากสถาบันการเงินแต่อย่างใด ทำให้เกิดการทวงหนี้ที่เป็นลักษณะข่มขู่และทำให้เสียชื่อเสียง กฎหมายใหม่จึงเพิ่มอำนาจการครอบคลุมมายังส่วนนี้ด้วย

.

นายกรณ์กล่าวว่า กฎหมายจะกำหนดไว้ว่าเจ้าหนี้และผู้ที่ทวงหนี้จะสามารถสอบถามจากใครได้บ้าง เพื่อไม่ให้ครอบครัวและเพื่อนร่วมงานเกิดความรำคาญ หากถามจากบุคคลที่สามกำหนดให้ถามได้เฉพาะที่อยู่ของลูกหนี้เท่านั้น จะเปิดเผยมูลหนี้หรืออัตราค้างชำระไม่ได้  ส่วนช่วงเวลาทวงถามกำหนดให้วันทำงาน 8.00 - 20.00 น. วันหยุด 8.00 - 18.00 น. ยกเว้นกรณีทำงานเป็นกะเวลาให้ทวงถามได้ตามความเหมาะสม

.

"กฎหมายนี้ในหลายๆ ประเทศได้บังคับใช้กันมานานแล้ว เพื่อป้องกันเจ้าหนี้เรียกคืนหนี้ด้วยการข่มขู่หรือประจานเพื่อให้ลูกหนี้เกิดความเสียหายหรืออับอาย  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงควรมีกฎหมายนี้มาบังคับใช้  เพราะการทวงหนี้ เจ้าหนี้สามารถดำเนินการได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว โดยการฟ้องร้องทางแพ่ง  จึงสมควรที่จะออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้" นายกรณ์กล่าว

.

สำหรับร่างพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ในหลายๆ ประเทศได้ดำเนินการกันมาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อให้การทำธุรกิจของภาคเอกชนมีความคล่องตัว  ซึ่งในประเทศไทยสินค้าที่มีมูลค่าทางธุรกิจจำนวนมหาศาลไม่สามารถนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายนี้รองรับ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วสินค้าคงคลังต่างๆ ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องสำหรับกิจการ รวมถึงรายได้ในอนาคต เช่นสัญญาว่าจ้างกับส่วนราชการก็จะนำไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมได้

.

"ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการแทน  เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงินและกฤษฎีกาเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว จึงสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯได้เลยหากครม.เห็นชอบ  ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ได้เร็วจะถือว่าเป็นโอกาสอันเหมาะสม ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น" รมว.คลัง กล่าว

.

อนึ่ง  ก่อนหน้านี้นายกรณ์เคยระบุว่าในส่วนของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคาดว่าจะนำเสนอครม.ได้ภายในปีนี้ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและจะเริ่มจัดเก็บภาษีได้ในปี 2554  การเร่งนำเข้าครม.ภายใน 2 สัปดาห์โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในปลายปีนี้ดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการเร่งรัดให้เร็วกว่ากำหนดเดิมถึง 2 ปี

.

นอกจากนั้นนายกรณ์ยังยอมรับว่าในส่วนของการจัดเก็บภาษีมรดกที่เดิมรัฐบาลนี้ประกาศจะเดินหน้าต่อนั้นก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะค่อนข้างยุ่งยากและหลายประเทศลดบทบาทของภาษีมรดกไปมากแล้วจึงขอเดินหน้าเก็บภาษีทรัพย์สินก่อน  

.
ที่มา : มติชนออนไลน์, ประชาไทดอทคอม