เนื้อหาวันที่ : 2006-10-20 08:55:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1384 views

ก.คมนาคมส่งสัญญาณเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-แดงก่อน

กระทรวงคมนาคม ส่งสัญญาณหยิบโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ทั้งสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีแดงมาทำก่อน ให้เหตุผลเป็น 2 เส้นทาง ที่เกิดประโยชน์ผู้ใช้ และมีอุปสรรคจากการเวนคืน

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ส่งสัญญาณหยิบโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ทั้งสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีแดงมาทำก่อน  ให้เหตุผลเป็น 2 เส้นทาง  ที่เกิดประโยชน์ผู้ใช้  และมีอุปสรรคจากการเวนคืนเขตทางน้อย  ขณะที่นักวิชาการขานรับ  หากรัฐบาลตัดใจชะลอลงทุนโรงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ)  ออกไป

.

พล.ร.อ.ธีระ  ห้าวเจริญ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า  การตัดสินใจชี้ขาดในรายละเอียดของโครงการลงทุนระบบรถไฟฟ้า 3 สายทาง  ซึ่งขณะนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะเลือกลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าบางสายทางก่อนเท่านั้น   หรือยังไม่ลงทุนพร้อมกันทั้ง 3 เส้นทาง  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ   หรือเลือกลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วน  และสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วก่อน

.

อย่างไรก็ตาม  ภาพของโครงการลงทุนว่ารัฐบาลจะเลือกลงทุนในเส้นทางสายใดนั้น  จะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า   ภายหลังการแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการในระดับปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวง  ของคณะรัฐมนตรี  เพื่อให้เกิดภาพชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผลักดันโครงการในอนาคต

.

ด้านนายสรรเสริญ  วงศ์ชะอุ่ม  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า  สำหรับการจัดลำดับความสำคัญในการเลือกลงทุนรถไฟฟ้าก่อนและหลัง  ในกรณีที่รัฐบาลจะไม่ก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายพร้อมกัน  ประเด็นแรก  เส้นทางที่เลือกต้องทำให้เกิดประโยชน์ผู้ใช้บริการด้านขนส่งสูงสุด  หรือมีลักษณะทำให้เส้นทางต่อเชื่อมเป็นวงกลม  ตัดผ่านย่านชุมชนสำคัญที่มีความต้องการใช้ระบบขนส่งมาก  2.จะต้องเป็นเส้นทางที่มีอุปสรรคด้านการก่อสร้างน้อย  เช่น  ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนเขตทางที่ดินมาใช้เป็นเขตทางเดินรถ  ซึ่งจะช่วยการก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว  และ 3.จะต้องคำนึงถึงเรื่องงบประมาณก่อสร้าง  ซึ่งจะมาจากปัจจัยการกำหนดความสั้น/ยาวของระยะทางด้วย

.

ขณะที่นายมานพ  พงศทัต  อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เปิดเผยว่า  โครงการลงทุนรถไฟฟ้าทั้ง  3  สายทางนั้น  ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะยังไม่มีการสร้างครบ  3  สายทาง  โดยความเห็นของนักวิชาการเห็นว่า ในการดำเนินการก่อสร้างนั้น  รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ  โดยใช้ดัชนีชี้วัดความพึงพอใจของประชาชนในการตัดสินใจเลือกว่าจะก่อสร้างเส้นใดก่อน  รวมถึงการกำหนดเส้นทางที่ประชาชนในส่วนต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ  ในปัจจุบันยังขาดระบบขนส่งมวลชนอยู่

.

ทั้งนี้ ในส่วนของเส้นทางที่มีความจำเป็น  และรัฐบาลควรเร่งดำเนินการก่อสร้างจาก  3 สายเดิม คือ สายสีแดงแนวเหนือใต้ รังสิต-มหาชัย  ซึ่งจะมีจุดเชื่อมโยงต่อเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้าที่จะเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  รวมทั้งมีข้อดีซึ่งจะใช้เขตทางรถไฟเป็นสายทางก่อสร้าง  จะสามารถลดอุปสรรคในการต้องดำเนินการเวนคืนที่ดิน  ซึ่งเส้นทางดังกล่าว  รัฐบาลสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็ว  นอกจากนี้  ยังมีเส้นทางที่ควรเร่งดำเนินการคือ  ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน  หัวลำโพง-บางแค   และบางซื่อ-ท่าพระ  เพื่อให้เส้นทางรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน  ครบรอบวงกลมรองรับความต้องการใช้ระบบขนส่งของประชาชนได้

.

ขณะเดียวกัน  รัฐบาลก็ควรมีส่วนสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของภาคเอกชน  โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเอง  เช่น  รถไฟฟ้าสายสีเขียวของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ  จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส  จากสถานีสะพานตากสิน เข้าสู่ย่านฝั่งธนบุรี  ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งมวลชนจำนวนมาก  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ  30  ของประชากรในกรุงเทพฯ ทั้งหมด   และมีปัญหาความเดือดร้อนของปัญหาจราจรติดขัดอย่างมาก โดยความเห็นในฐานะนักวิชาการเห็นว่า  แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีอายุในการบริหารราชการเพียง 1 ปี  แต่ก็ควรเร่งผลักดันโครงการระบบขนส่งมวลชนเหล่านี้เกิดขึ้น  ซึ่งเชื่อว่าเฉพาะ  3  สายทางแรกที่จะเริ่มก่อสร้างนั้น  ก็จะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาไม่น้อยกว่า 15  ปี แล้ว

.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  สำหรับการจัดลำดับความสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่กระทรวงคมนาคม  จัดทำแผนขึ้นขณะนี้  โครงการที่มีลักษณะเป็นวงกลม   ได้แก่  โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  หัวลำโพง-บางแค   และบางซื่อ-ท่าพระ  รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง  ทั้งแนวเหนือใต้ (รังสิต-มหาชัย)  และตะวันออก-ตะวันตก (ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ ) ซึ่งการก่อสร้างได้มีการวางโครงสร้างระบบเดินรถส่วนใหญ่อยู่บนเขตทางรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยการก่อสร้างไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมมากนัก